หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา กรณี การครอบครองปรปักษ์


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/3450
               โจทก์ทั้งสองได้ใช้ลำรางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ต่อจากบิดาของโจทก์ทั้งสองโดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้ภาระจำยอมในลำรางพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ดินของจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นลำรางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382, 1401 แม้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองสามารถรับน้ำได้จากคลองด้วยก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวสิ้นไป เพราะภาระจำยอมที่ได้มาโดยอายุความจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้ 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 เท่านั้น
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6445/2562
               จำเลยที่ 4 ได้รับการยกให้จากบิดา จากนั้นเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและแบ่งปันที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท เป็นการอ้างว่า ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 
ผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2561
               ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน และประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จึงเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย 
แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้วและข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ผู้คัดค้านเพียงแต่อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560
               คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายว่า จำเลยใช้ทางพิพาทมาตลอด กว้าง 11 เมตร ยาวจากที่ดินจำเลยไปจดถนนกรุงธนบุรี ยาว 38 เมตร เป็นทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถ และขนถ่ายสินค้าถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ตามแผนผังท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม ส่วนโจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ใช่ภาระจำยอมของที่ดินจำเลย จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 ถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยหาได้ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาตามที่จำเลยให้การ ทางออกสู่ทางสาธารณะที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เท่านั้น หาได้กว้าง 11 เมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยอ้างการใช้ทางเต็มพื้นที่ตามเอกสารท้ายคำให้การจึงไม่ชอบ เห็นได้ว่าโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเฉพาะเรื่องจำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงบางส่วน มิใช่เต็มพื้นที่ที่ดินโจทก์ และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งเรื่องจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้า จึงถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้าในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ด้วย 
การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 
ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะ ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของ สามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7603/2560
               ที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2558 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3815 เนื้อที่ 66 ตารางวา ถูกแบ่งแยกไว้เพื่อให้ที่ดินแปลงจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะโดยเจ้าของที่ดินจัดสรรได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาก่อนจำเลยทำประตูและรั้วปิดกั้นทางพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 เป็นทางส่วนบุคคลที่เจ้าของมีเจตนาแบ่งแยกให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรและมีการใช้ประโยชน์เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จำเลยจะทำประตูกั้นทาง ถนนซอยตามโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรที่อยู่ข้างเคียงโดยอายุความแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมด้วยซึ่งความเป็นภารยทรัพย์นี้ ย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ในเวลาต่อมาแต่อย่างใด ขณะ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ส. ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาเกิน 10 ปี แสดงว่า ส. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของตน ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ด้วย โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 อันเป็นสามยทรัพย์มาจาก ส. ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย โจทก์จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางพิพาทอันเป็นภาระจำยอม การที่จำเลยทำประตูเลื่อนปิดเปิดและกำแพงรั้วสังกะสีปิดกั้นทางพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6833/2560
               ผู้ร้องทั้งสองบรรยายข้อเท็จจริงในคำร้องขอทำนองว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตแนวของโฉนดที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องทั้งสองเข้าใจมาตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองหรือเป็นที่ดินที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองนำโฉนดที่ดินมาแสดงและอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ผู้ร้องทั้งสองจึงร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านทั้งสอง ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของผู้ร้องทั้งสองในการยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้ว่า ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง แต่เป็นการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของผู้คัดค้านทั้งสอง
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2560
               จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2559
               จ. เคยยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างเหตุว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. โดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. บิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ จ. นำสืบฟังไม่ได้ว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่า จ. มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึด ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือ จ. และโจทก์รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ จ. ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขัดทรัพย์คดีนี้อ้างเหตุว่า จ. เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยซื้อมาจาก ส. แต่ใส่ชื่อ อ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนอีกย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559
               ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ 
จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558
               โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว 
แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14291/2558
               ปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก..." โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ 
ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ 
จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากกต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) 
จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13969/2558
               บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้ 
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้สิทธิครอบครองจะเป็นสิทธิในทรัพย์สินที่อยู่ในอันดับรองจากกรรมสิทธิ์ แต่ก็หาใช่สิทธิที่กฎหมายรับรองให้มีการร้องขอแสดงสิทธิได้เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ กรณีจึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไปเสียในคราวเดียวกันในชั้นนี้เพราะสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้อื่นจะมีได้ก็แต่การแย่งการครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อคดีไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง ประกอบกับไม่ได้ความว่าโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 จึงต้องรับฟังว่าการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองแทนจำเลยตลอดมา กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำขอของโจทก์


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2558
               โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินในโครงการเป็นผู้สร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทเอง เมื่อจำเลยมิได้ปิดกั้นที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์ไม่จัดให้มีที่กลับรถเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการที่มีที่กลับรถเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 32 เป็นการที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนนสวนสนามเด็กเล่นให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ประกอบกับมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่ภาระจำยอมที่เกิดขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินก่อสร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทที่ได้กันไว้เป็นที่กลับรถอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนของโครงการ แต่ที่ดินพิพาทอยู่ภายในรั้วบ้านของจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันจะทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับ ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มาด้วย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558
               ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2558
               ผู้ร้องทั้งสามเป็นฝ่ายกล่าวอ้างในคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ต่อเนื่องกับการครอบครองยึดถือเพื่อตนของบิดามารดาของผู้ร้องทั้งสามแต่ละคนที่ บ. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทบอกยกที่ดินพิพาทให้ตั้งแต่ประมาณปี 2500 ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสามร่วมกันโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า บ. ให้บิดามารดาของผู้ร้องแต่ละคนอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนตั้งแต่ประมาณปี 2500 หลังจากนั้นบิดามารดาของผู้ร้องทั้งสามแต่ละคนตลอดจนผู้ร้องทั้งสามไม่เคยบอกกล่าวหรือแสดงเจตนาแก่ บ. หรือผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทว่าจะเปลี่ยนลักษณะการครอบครองโดยจะไม่ครอบครองแทนอีกต่อไป ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้ร้องทั้งสาม 
ผู้ร้องทั้งสามบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากบิดามารดาที่ถึงแก่ความตายแล้วร่วมกันเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสามร่วมกันโดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีมิใช่คำร้องขอที่ประสงค์ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ละคนโดยการครอบครองปรปักษ์ตามเนื้อที่ที่แยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด จึงย่อมจะคิดแยกทุนทรัพย์ที่ดินตามที่ผู้ร้องแต่ละคนครอบครองอยู่ไม่ได้ ทุนทรัพย์ในคดีนี้ต้องถือตามราคาที่ดินพิพาททั้งแปลงที่คู่ความตีราคา 560,000 บาท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2558
               การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไว้ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้สิทธิของตนที่มีอยู่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมาย ย่อมมีสิทธิที่จะเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) แม้ผู้ร้องทราบดีว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิใช่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ทราบชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์และในการรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ให้การว่า ไม่ได้ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของใคร แต่ผู้ร้องก็มิได้กล่าวอ้างในคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กระทำอย่างใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องเลย คงบรรยายข้อเท็จจริงเพียงว่าหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 378 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้ร้องยังคงครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหรือรอนสิทธิมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่ายี่สิบปีตามเงื่อนไขของการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ประการเดียว และผู้ร้องก็เพียงขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ มิได้ขอให้บังคับเอาแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อผู้ร้องประสงค์ที่จะให้สิทธิของผู้ร้องที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ได้รับการรับรองหรือคุ้มครอง โดยมิได้กล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 3 หรือบุคคลคนอื่นใดโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 188 (1) มิได้เริ่มคดีโดยฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามอย่างคดีมีข้อพิพาท จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558
               จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยทำคันนาเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างที่ดินโจทก์และจำเลยดังกล่าวและปลูกต้นไม้รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ดังนี้เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3980/2558
               โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทกับโจทก์ หากแต่โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโดยวิสาสะด้วยความสัมพันธ์ฉันญาติ แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อันเนื่องมาจากโจทก์ครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยตรงตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีแล้ว 
ทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินเลขที่ 54893 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 นับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ยังไม่ถึงสิบปี แม้โจทก์จะอ้างว่าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเดิมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2623 ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่ครอบครองอยู่แต่เดิมมารวมเข้ากับระยะเวลาครอบครองที่ดินได้ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้น ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไม่ว่าโจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2558
               จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งหลักฐานการชำระราคาที่ดิน ลำพังหนังสือสัญญาขายที่ดิน ไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. ชำระเงินให้แก่ ป. แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า ส. รับโอนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ตั้งเป็นประเด็นในคำให้การว่า ส. รับโอนที่ดินพิพาทจาก ป. โดยมิได้ชำระค่าที่ดินหรือไม่เสียค่าตอบแทน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 
ส. ซื้อและรับโอนที่ดินจาก ป. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยกล่าวอ้างว่า ส. รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึงการได้มาโดยไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาโดยรู้เช่นนั้นย่อมไม่สุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้โดยไม่จำต้องส่งมอบ การครอบครองที่ดินให้แก่กัน ทั้งในทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินก็ระบุชัดว่า ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับมรดกมาจากบิดา กับไม่มีการจดแจ้งอย่างใด ๆ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ ส. จะตกลงซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทในทางทะเบียน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า ป. เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ ส. ซื้อที่ดินมาในราคาสูงก็ดี ที่ดินอยู่ในทำเลการค้าหรือในที่เจริญก็ดี แต่ ส. ไม่ไปตรวจสอบที่ดินก่อนว่ามีใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้อย่างไรในฐานะใด จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ส. อันเป็นการซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ ส. ไม่ได้ ส. มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เช่นนี้ ต่อมาการที่โจทก์ทั้งสองซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก ส. ไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ จำเลยก็ไม่อาจที่จะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง เพราะสิทธิที่จะอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยขาดช่วงไปตั้งแต่ที่ ส. ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มใหม่นับแต่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันจำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 
การที่ ม. และ ข. ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของตนเอง ต่อมาแบ่งแยกที่ดินและยกตึกแถวให้แก่บุตร โดยปรากฏในภายหลังว่าตึกแถวเลขที่ 1/12 ซึ่งยกให้ อ. อยู่ในที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่ ล. ทั้งแปลงและอยู่ในที่ดินของ อ. เป็นส่วนน้อย จึงต้องถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาแต่เดิมและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบเคียงตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 วรรคสอง อันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 1/12 แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างตึกแถวเลขที่ 1/12 นั้นให้แก่จำเลยและพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวม ส่วนที่ตึกแถวเลขที่ 1/12 บางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1247 ประมาณ 2 ตารางวา ก็ต้องปรับบทเทียบเคียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตึกแถวเลขที่ 1/12 ส่วนปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยจึงเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย แต่โจทก์ทั้งสองต้องเสียเงินค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยและพวก การครอบครองตึกแถวของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยมีสิทธิครอบครองโดยชอบมาแต่เดิมและโจทก์ทั้งสองยังมิได้ใช้ค่าที่ดินทั้งในสองกรณีให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องไปบังคับแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องต่อไป ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246 และ 247


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557
               เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี 
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ 
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556
               แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556
               จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 
การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง 
แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ 
การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2556
               ขณะจำเลยทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ บิดาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทได้เอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่มีมูลความจริง และขัดต่อเหตุผลดังที่ระบุในสัญญาดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากโจทก์สามารถดำเนินการจนทำให้จำเลยสามารถได้กรรมสิทธิ์ จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ 6 ส่วน โดยจำเลยได้ 1 ส่วน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ป. โดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. แสดงว่าการที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ การทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีใจความเช่นนี้จึงมีสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ ซึ่งหลังจากทำสัญญาดังกล่าวมีการไปยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจนมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ย่อมต้องคำนึงถึงการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่ หลอกลวง หรือกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 
เมื่อคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. และจำเลยก็กล่าวแก้ว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ทำให้ที่ดินตกเป็นของจำเลยโดยผลของกฎหมายแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์แพ้คดีกลับอ้างข้อต่อสู้ของจำเลยมาเป็นประโยชน์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้ 
ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง หาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17094/2555
               คำให้การของจำเลยตอนต้นเป็นการกล่าวให้เห็นที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทว่าเนื่องมาจากการซื้อจากบุคคลภายนอกโดยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันเพื่อให้เห็นเหตุและเจตนาในการเข้าครอบครอง ส่วนที่ให้การต่อมาว่า จากนั้นจำเลยและครอบครัวจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 40 ปี ก็เพื่อให้เห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นแล้วโดยการครอบครอง อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ถือว่าขัดแย้งกัน หากแต่เป็นการลำดับที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่แรกจนได้กรรมสิทธิ์โดยชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวซึ่งจะต้องพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ด้วย เพราะหากจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเสียแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมิได้วินิจฉัยนอกประเด็น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555
               จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12746/2555
               ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12735/2555
               ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10061/2555
               การจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองนั้น นอกจากจะต้องครอบครองโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้ว ยังจะต้องได้ความว่าเป็นการครอบครองไว้โดยสงบอีกด้วย การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดิน ย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบที่จะนำระยะเวลาการครอบครองไปรวมเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555
               ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ 
หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของ อ. บ. และ ค. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555
               แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ 
ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2555
               การที่ ร. แสดงเจตนาไว้เป็นคำมั่นสัญญาว่า เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย ร. ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง แต่ขณะเดียวกัน ร. ก็ได้แสดงเจตนาที่ก่อให้เกิดผลผูกพันแก่ผู้ร้องในขณะที่ ร. ยังมีชีวิตอยู่ว่า อนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินของ ร. ได้โดยมีข้อตกลงว่า ร. จะไม่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9183 ข้อตกลงดังกล่าวนี้รวมตลอดถึงการแสดงเจตนาล่วงหน้าของ ร. ที่ว่า จะยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องเมื่อตนถึงแก่ความตาย แสดงให้เห็นว่า ร. ต้องการให้ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทได้ด้วยความมั่นใจว่าจะไม่ถูกกระทบกระเทือนสิทธิ หรือได้รับความเดือดร้อนเมื่อ ร. ถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น แต่หาได้มีความหมายไปถึงว่า ร. ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องตั้งแต่วันทำหนังสือยกให้ไม่ หาก ร. ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องในทันทีก็ไม่จำต้องระบุเกี่ยวกับการอนุญาตให้ปลูกสร้างบ้าน และการยกที่ดินพิพาทให้โดยพินัยกรรมอันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายแต่อย่างใด 
ขณะ ร. มีชีวิตอยู่ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของ ร. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือครอบครองต่อ ร. ว่าจะยึดถือเพื่อตน จึงถือว่าผู้ร้องครอบครองแทน ร. ตลอดมา แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2554
               จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2554
               ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้ง 3 แปลง เดิมเป็นทางเกวียนมาก่อน บิดาโจทก์และโจทก์รวมทั้งชาวบ้านใช้ทางพิพาทเข้าออกไปมาจากหมู่บ้านไปทุ่งนาก่อนที่จะมีคลองชลประทาน จนกระทั่งปี 2523 ได้ขุดทางเกวียนเป็นคลองส่งน้ำจากคลองชลประทานแล้วใช้ที่ดินที่ขุดทางเกวียนถมเป็นทางพิพาท แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของ บ. บิดาโจทก์ว่า ที่ดินที่ บ. ไปทำนาคือที่ดินที่เช่าจาก ศ. เจ้าของเดิมก่อนขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้ง 3 แปลง บ. กับชาวบ้านใช้ทางพิพาทเดิมไปทำนาเพียงให้วัวควายเทียมเกวียนลากข้าวผ่านเป็นประจำ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ทางพิพาทออกไปสู่ทางสาธารณะใด การใช้ทางพิพาทเป็นทางวัวควายเดินผ่านที่ดินไปทำนาเป็นการใช้ทางพิพาทโดยวิสาสะตามประเพณีของชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไปเท่านั้น แม้มีการขุดทางเกวียนเป็นคูน้ำแล้วนำดินมาถมเป็นทางพิพาทเมื่อปี 2523 ก็ปรากฏว่าบิดา ศ. ให้ บ. เป็นผู้ดูแลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ทางพิพาทโดยบิดา ศ. และ ศ. เป็นผู้ให้ความยินยอมและหลังจาก ศ. ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9259 และ 3365 ให้แก่จำเลยเมื่อปี 2532 และปี 2535 บ. ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33383 ที่ บ. เบิกความว่าซื้อจาก ศ. ให้แก่จำเลย จำเลยยกร่องคันดินทำเป็นสวนส้มและทำประตูและรั้วปิดกั้นทางเข้าออกทางพิพาท โจทก์ได้รับมอบกุญแจจากจำเลยเพื่อใช้ปิดเปิดประตูรั้วเข้าออกทางพิพาทเป็นการแสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านโดยวิสาสะหรือโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทนานเพียงใด ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2554
               โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถว ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ว. เจ้าของที่ดินและตึกแถวเดิมได้ก่อสร้างถนนหรือทางพิพาทไว้เพื่อให้ผู้มาเช่าเซ้งตึกแถวใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งถ้าหากนับถึงขณะที่โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็ตาม แต่การใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่ อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำหรืออ้าง อ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก่อนโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมหรือไม่เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งเจ็ดแปลงของโจทก์ทั้งสอง 
เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2554
               การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2554
               คำให้การของจำเลยที่ว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจำเลยเอง หากไม่ใช่ที่ดินของจำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะคำให้การของจำเลยในตอนหลังขัดแย้งกันคำให้การของจำเลยในตอนแรกคำให้การในตอนหลังนี้เท่ากับจำเลยได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยแต่จำเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี เมื่อคำให้การของจำเลยขัดแย้งกัน จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12639/2553
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนที่ดินมาจาก ห. โดยไม่สุจริต โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตอย่างไร และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ ถือว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทนี้ 
จำเลยให้การว่าจำเลยคัดค้านการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ เนื่องจากเป็นที่ดินของจำเลย เป็นคำให้การที่ยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การด้วยว่า จำเลยกับมารดาร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม เพราะจะขัดกับคำให้การที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการครอบครองปรปักษ์จะต้องกระทำต่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น 
โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทของโจทก์ เท่ากับขอให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์นั่นเอง ซึ่งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12102/2553
               โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิ ป.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทอันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินจึงไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม หลังจากจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของทางพิพาท โจทก์ทั้งสามมิได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าใช้ทางพิพาทโดยมีเจตนาเพื่อให้ได้ทางภาระจำยอม โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทในลักษณะเป็นปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองกว่าสิบปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแต่ประการเดียว แม้คำฟ้องบรรยายว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะประโยชน์ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วออกไปหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลยกฟ้องโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามจะฟ้องใหม่ในเรื่องทางจำเป็น


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10545/2553
               ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) บุคคลใดต้องใช้สิทธิทางศาลจะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีคำร้องขอของผู้ร้องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9788/2553
               การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่ 
ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2553
               ในการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หามีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นเป็นของผู้อื่นหรือไม่ใช่ทรัพย์สินของตนแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของตนเองที่รับโอนมรดกมา แม้จำเลยเพิ่งจะทราบภายหลังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลย เมื่อปี 2547 ก็ตามแต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่าสิบปีโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านจำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว โดยหาจำต้องเป็นการครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2553
               สภาพบ้านของผู้ร้องเป็นบ้านชั้นเดียวหลังคามุงด้วยสังกะสี ผนังบ้านกั้นด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบ พื้นบ้านมีการยกพื้น โดยเป็นการปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ยากต่อการรื้อถอน ทางด้านขวาของบ้านผู้ร้องติดกับผนังของบ้านข้างเคียง ส่วนทางด้านซ้ายอยู่ห่างจากผนังบ้านข้างเคียงประมาณ 1 เมตร บริเวณด้านข้างและด้านหลังมีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้เป็นทางเดินได้ ลักษณะการปลูกสร้างบ้านและสภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านผู้ร้องจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการปลูกสร้างไม่แน่นหนาและถาวรเพื่อเป็นที่อาศัยพักพิงชั่วคราวดังเช่นบ้านในชุมชนแออัดทั่วไปซึ่งมักจะอาศัยโอกาสปลูกสร้างบ้านชั่วคราวในลักษณะเช่นนี้ในที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่น โดยการปลูกสร้างหรือต่อเติมรวมทั้งการรื้อถอนโยกย้ายสามารถกระทำได้ง่ายตลอดเวลา นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ร้องไม่เคยขอเลขที่บ้านหรือหลักฐานทะเบียนบ้านจากทางราชการ ทั้งได้ความว่าบุตรของผู้ร้องไปขอใช้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาให้ผู้ร้องโดยใช้บ้านเลขที่ของน้องต่างมารดาของผู้ร้อง และติดตั้งมาตรวัดน้ำและมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านดังกล่าวด้วย ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องยอมรับว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกสร้างชั่วคราวในที่ดินของผู้อื่น พฤติกรรมการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2553
               คดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่ให้ ช. และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น จำเลยฟ้อง ช. คนเดียวมิได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องเข้ามาต่อสู้คดีแต่อย่างใด คดีดังกล่าวมีประเด็นตามฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือ ช. ปรากฏว่า ช. ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยให้ขับไล่ ช. และบริวาร แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิมยื่นฟ้องจำเลยว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้องประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้จึงมีว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีเดิม เมื่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการครอบครองของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ ไม่เป็นการขัดกับคำพิพากษาในคดีเดิมแต่อย่างใดเพราะแม้จะฟังตามคำพิพากษาในคดีเดิมว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมิใช่ของ ช. แต่จำเลยก็อาจจะเสียสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมได้ 
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้น มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าถ้าโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. จะต้องเป็นบริวารของ ช. สถานเดียว เพียงแต่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นบริวารของ ช. เท่านั้น แต่หากโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. มีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แล้ว ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของตนได้ว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แม้จะล่วงเลยเวลาแปดวันแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุด เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะฟ้องร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ช. เสียภายในแปดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลจึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ต้องเป็นบริวารของ ช. หรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังที่จำเลยฎีกา


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2553
               จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 2 ครอบครองเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ส. บิดาภริยาของจำเลยที่ 2 ได้หักล้างถางพงเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2450 จนกระทั่งปี 2502 ส. จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ครอบครองต่อมา คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจาก ส. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนก่อน โดย ส. เป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2450 ก่อนที่ทางการจะออกโฉนดที่ดินในปี 2464 การที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องและจำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2553
               จำเลยให้การว่า โจทก์มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์ได้ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉลโดยนำเอาเอกสารที่ยังไม่ได้กรอกข้อความใดๆ มาหลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์แจ้งข้อความเท็จว่า จะนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี จำเลยหาได้มีเจตนาทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เท่ากับจำเลยให้การว่า จำเลยแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และในขณะเดียวกันคำให้การจำเลยหมายความว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าที่ดินโดยทราบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินแต่ต้องการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีคือโจทก์ โดยโจทก์จะนำสัญญาเช่าที่ดินไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี อันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และจำเลยให้การ รวมไปด้วยว่า จำเลยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน เพราะจำเลยไม่ได้ทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่เป็นนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง 
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยหาได้ยึดถือที่ดินที่เช่าโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ จำเลยไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดิน จำเลยอาจจะยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาก่อนก็ตามโดยผลของสัญญาเช่าที่ดินต้องถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9322/2552
               การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาจะได้สิทธิในภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นข้อสำคัญในการพิจารณาว่าจะได้ภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่าภารยทรัพย์จะอยู่ในครอบครองของผู้ใด


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7500/2552
               คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไม่อาจขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ หากประสงค์ที่จะขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ก็ชอบที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เพื่อไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2552
               การซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 แต่หากผู้ซื้อได้ครอบครองที่ดินที่ซื้อขายกันโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทและครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้อง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2552
               โจทก์ทั้งสี่ใช้ลำรางพิพาทในการชักน้ำเข้านาที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แล้วขุดเป็นบ่ออยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว จากนั้นโจทก์ทั้งสี่ใช้ระหัดวิดน้ำหรือใช้เครื่องสูบน้ำชักน้ำเข้าไปยังที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วยความสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี แล้ว แม้จะได้ความว่ามีลำรางพิพาทถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการชักน้ำเข้าไปโดยการใช้ระหัดวิดน้ำหรือเครื่องสูบน้ำจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แต่ก็อยู่ในลักษณะที่ลำรางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามต้องรับกรรม หรือรับภาระเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่อยู่ถัดไปด้วยเช่นกัน เพราะสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน ถ้าการที่ต้องภาระจำยอมนั้นมีลักษณะเป็นภาระแก่อสังหาริมทรัพย์อื่น จะเป็นแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงก็ดี จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นคั่นอยู่ก็ดี ก็ตกเป็นภาระจำยอมได้ ที่ดินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทั้งหกแปลงในการใช้ลำรางพิพาทโดยอายุความ


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2552
               โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้การใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว หาใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 ไม่ เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมแล้ว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
               จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่นสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 
การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน 
เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้วจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ก็แต่โดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหลังจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552
               การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่งการครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2552
               จำเลยทั้งสิบสามคนมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งต้องถือตามราคาที่ดินในส่วนที่จำเลยสืบสิทธิมา มิใช่แยกคำนวณตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์ระบุในคำแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์และตามฟ้องแย้งราคาตารางวาละ 125 บาท เท่ากับไร่ละ 50,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยทุกคน จึงเกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสิบสามไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 
การที่ ก. ย. และ อ. ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท และร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แม้จะยังไม่มีการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่ปรากฏว่า ก. ย. และ อ. แสดงเจตนาจะยกเลิก จึงต้องถือว่าข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง ย่อมผูกพัน ก. ย. และ อ. 
ก. ย. และ อ. ได้แบ่งการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว จึงถือไม่ได้ว่า ก. ย. อ. และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดพิพาทตลอดมา เมื่อ ย. อ. และจำเลยทั้งสิบสามครอบครองที่ดินพิพาทที่ซื้อจาก ก. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 
ธ. และโจทก์ซื้อที่ดินโดยรู้ว่ามีผู้ครอบครอง กรณีถือไม่ได้ว่า ธ. และโจทก์รับโอนที่ดินไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3095/2552
               ที่ดินที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นที่ดินซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ การที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องขอว่าผู้ร้องซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะส่วนจาก ป. โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ได้มีการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันอันเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงเหตุแห่งการที่ผู้ร้องได้ที่ดินมาครอบครอง เมื่อที่ดินมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ผู้ร้องจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ผู้ร้องจะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ต่อมาหลังจากผู้ร้องซื้อที่ดินแล้ว ที่ดินดังกล่าวได้ออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน ดังนั้น การที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาการครอบครองตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินถึงวันยื่นคำร้องขอเกินกว่าสิบปีแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2552
               บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อธนาคาร ก. เป็นทั้งผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิมและยังเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ธนาคาร ก. จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 
เมื่อธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่ปรากฏว่าซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่ผู้ซื้อว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ถือว่าธนาคาร ก. ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันธนาคาร ก. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง แม้เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. ภายใน 10 ปี นับแต่วันรับโอนจากธนาคาร ก. และรับโอนโดยไม่สุจริตก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครองครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนคนต่อมาได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ธนาคาร ก. ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตตอนแรก แม้ผู้ร้องจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การครอบครองในช่วงหลังที่ธนาคาร ก. และผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์มา เมื่อนับถึงวันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านที่ 1 ครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วด้วยหาได้ไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2552
               นิติสัมพันธ์ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านสำหรับที่ดินพิพาทตามสัญญาที่มีต่อกันครั้งล่าสุดเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้คัดค้านอันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น หากผู้ร้องประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1381 โดยบอกกล่าวไปยังผู้คัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านอีกต่อไป 
กรณีที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องเพื่อให้ยินยอมให้ผู้คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2530 นั้น คำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งแม้จะผูกพันผู้ร้องกับผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และอาจจะก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะดำเนินการบังคับผู้คัดค้านให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อขายที่มีต่อกันหากผู้ร้องปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จะซื้อครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่จะให้รับฟังข้อเท็จจริงถึงขั้นว่าหากผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังจากเสร็จคดีตลอดมา ก็จะต้องถือว่าโดยพฤติการณ์เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทมาเป็นยึดถือเพื่อตนแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงต่างประเด็นกัน ฉะนั้น จึงไม่อาจนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343 - 1344/2552
               เมื่อจำเลยทั้งสองให้การชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองมาแต่ต้นมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโต้แย้งการครอบครองเพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนอกประเด็นมาวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นการไม่ชอบ เพราะการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องเกิดจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2552
               การครอบครองโดยปรปักษ์นั้น มิใช่เพียงแต่ยึดถือเพื่อตนเองอย่างสิทธิครอบครองเท่านั้น ยังจะต้องมีการยึดถือครอบครองด้วยเจตนาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นด้วย ส่วนจะมีเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องอยู่ภายในจิตใจ ต้องอาศัยพฤติการณ์ต่างๆ แห่งการยึดถือครอบครองมาประกอบว่าพอจะเป็นการยึดถือครอบครองอย่างเป็นเจ้าของได้หรือไม่ สำหรับการครอบครองที่ดินพิพาทของ ม.ย. และจำเลย ก่อนวันที่ 8 สิงหาคม 2509 ไม่ได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่มีเอกสารสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ กรณีจึงรับฟังได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ ส่วนการครอบครองนับแต่วันที่ดินพิพาทมีโฉนดที่ดินแล้ว ก็ไม่ปรากฏถึงพฤติการณ์แห่งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้ครอบครองเคยแสดงออก เช่น หวงกันมิให้บุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือดูแลรักษาที่ดินพิพาทไว้เพื่อประโยชน์แห่งตนและปฏิเสธต่อการอ้างสิทธิในการเป็นเจ้าของต่อบุคคลอื่นเป็นต้น ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์


=========================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view