หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2551
               แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต่อไป เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย 
การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม

พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า "ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้" ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย    
    
    

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560
               ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) 
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน 
แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559
               การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ 
แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1" จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2" จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) 
เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้ 
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น" 
เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559
               พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559
               การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559
               องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ 
แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา

158 (5)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453 - 15454/2558
               คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเดิมเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์โจทก์โดยร่วมกันทำซ้ำดัดแปลงที่รูปภาพหรือตัวงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ชนิดต่าง ๆ มาจัดทำสมุดภาพระบายสี ขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งสมุดภาพระบายสีที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์เพื่อการค้าและหากำไรและจำเลยที่ 1 แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมน เอซ อุลตร้าแมน อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนทาโร่ อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าแมนแจ็ค จัมโบเอหรือจัมบอร์กเอซ และได้ตั้งตัวแทนในการจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้ารูปอุลตร้าแมนออกจำหน่าย ทำสัญญาให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบันทึกสำเนาภาพยนตร์เป็นวีดิทัศน์โดยนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ และขายสิทธิในตัวอุลตร้าแมนแก่บริษัท ซ. ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิท โดยลอกเลียนดัดแปลงลักษณะพิเศษหรือคาร์แรกเตอร์ของอุลตร้าแมนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นงานที่โจทก์สร้างขึ้นภายหลังภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งเก้าเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีคดีพิพาทกันตามคดีก่อน จำเลยทั้งสามร่วมกันนำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์การค้า โดยการนำออกแสดงสดบนเวทีและเก็บค่าแสดง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่างกรรมกันกับคดีละเมิดในคดีก่อนและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว โดยที่โจทก์มิอาจยกขึ้นกล่าวอ้างหรือมีคำขอบังคับขณะยื่นฟ้องคดีก่อนได้ จึงไม่ใช่คำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173

วรรคสอง (1) 
เมื่อพิจารณาลักษณะของการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท เพื่อนำไปอนุญาตให้บุคคลอื่นผลิตตัวหุ่นและของเล่น หรือใช้กับฉลากสินค้าต่าง ๆ หรือจัดทำเป็นชุดหุ่นที่ใช้ในการแสดงบนเวทีแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อว่า การจัดทำอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามจนทำให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะตามคำฟ้องได้ต้องอาศัยรายละเอียดจากภาพวาดที่แสดงลักษณะอุลตร้าแมนของโจทก์ ดังนั้นการจัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานจิตรกรรมอันได้แก่ภาพวาดที่แสดงลักษณะของอุลตร้าแมน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์ได้ออกแบบหรือสร้างสรรค์ก่อนที่โจทก์จะนำงานจิตรกรรมนั้นมาดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์อุลตร้าแมน 
เมื่อเปรียบเทียบตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อนแล้วจะเห็นได้ว่าอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามมีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อน และความคล้ายคลึงกันดังกล่าวเป็นความคล้ายคลึงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าอุลตร้าแมนที่จำเลยทั้งสามสร้างขึ้นเป็นอุลตร้าแมนที่ปรากฏในภาพยนตร์อุลตร้าแมนจนมีบุคคลที่สามมาขออนุญาตใช้สิทธิในอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามหรือทำให้จำเลยทั้งสามสามารถนำไปจัดแสดงบนเวทีได้โดยใช้ชื่องานว่าอุลตร้าแมนไลฟ์โชว์ได้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามดัดแปลงงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนของโจทก์ 
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีก่อนพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเฉพาะผลงานภาพยนตร์ 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทเท่านั้น ส่วนภาพยนตร์ตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้น เมื่ออุลตร้าแมนเพาเวอร์ อุลตร้าแมนคิง อุลตร้าแมนทิก้า และอุลตร้าแมนคอสมอส เป็นผลงานจากภาพยนตร์ตอนใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ในสัญญาพิพาท ประกอบกับจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทโดยดัดแปลงจากผลงานอุลตร้าแมนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่า ทำการสร้างสรรค์อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทไปโดยชอบ อีกทั้งภายหลังศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนได้อีก 
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน สัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประโยชน์อันเกิดแต่ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมน การที่โจทก์และตัวแทนการค้าของโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และแต่งตั้งบริษัท พ. ให้เป็นตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 
ผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์ประสงค์ให้ตัวละครอุลตร้าแมนเป็นภาพลักษณ์ของฝ่ายคุณธรรมโดยเป็นผู้พิทักษ์โลก การที่จำเลยทั้งสามดัดแปลงโดยสร้างตัวอุลตร้าแมนให้มีลายเส้นเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อที่บริเวณผิวแตกต่างจากอุลตร้าแมนของโจทก์ซึ่งไม่ใช้ลายเส้นเน้นกล้ามเนื้อ และมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยที่แตกต่างจากเดิมเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่แสดงออกของตัวอุลตร้าแมนออกมาอีกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หาได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวอุลตร้าแมนผู้ทรงคุณธรรมพิทักษ์โลกเสียไปแต่อย่างใดไม่ การดัดแปลงตัวอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงไม่ใช่การบิดเบือนผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดในธรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2558
               ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ "การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย" (Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ "โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย" ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19350/2557
               จากบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกับหลักปรัชญาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานประติมากรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเอง (Originality) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น มิใช่สักแต่ทำขึ้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด ปรากฏตามสินค้าของโจทก์ว่าเป็นรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้เป็นรูปสามมิติ รูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์นั้นจึงเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้แสดงออกโดยรูปแบบของงานประติมากรรมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาว่ารูปปั้นนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นโดยเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ก่อนแล้วคือพระพักตร์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่มานานนับพันปีแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าผู้สร้างสรรค์งานรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ได้สร้างสรรค์งานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองและด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว เพราะมิใช่การสร้างงานนั้นขึ้นโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าวในชื่อผลงาน "คุ้มครอง" และ "โพธิพักตร์" ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนใบโพธิ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานประติมากรรมนั้น    



                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17869/2557
               สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบ ข้อ 3.4 เกี่ยวกับการห้ามใช้และถ่ายทอดเนื้อหา หลักสูตร เทคนิค และวิธีการสอนของโจทก์ทันทีที่หมดสัญญาหรือได้รับแจ้งจากโจทก์ให้หยุดใช้นั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับการใช้งานวรรณกรรมแบบเรียนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาข้อนี้จึงจำกัดเฉพาะงานที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 3.4 โจทก์จึงต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นใดของโจทก์ที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบกระทำการใดที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่างานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ชิ้นใดที่ถูกละเมิดและจำเลยทั้งสิบใช้หรือถ่ายทอดงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนั้นอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์และปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าว 
สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ระบุว่า "เกิดกรณีที่ผู้อนุญาต (โจทก์) ยกเลิกสัญญา กับสาขาที่ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ทำการสอนอยู่ ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) สัญญาว่าจะไม่ไปรับจ้างหรือทำงานกับสถาบันที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะไม่ประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" ข้อสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองโจทก์ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว ล. และ ด. จึงไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อีกและเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ ล. และ ด. ใช้ประโยชน์จากจำเลยทั้งสิบซึ่งโจทก์อบรมให้ ข้อสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ข้อ 8.1 ดังกล่าว มิได้ห้ามจำเลยทั้งสิบประกอบอาชีพครูโดยเด็ดขาดไม่ทำให้จำเลยทั้งสิบต้องรับภาระเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสิบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 มิได้เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ซึ่งได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมแบบเรียนของโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อจำเลยทั้งสิบยังคงเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาของ ล. และ ด. ภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ที่สัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ ข้อ 8.1 กำหนดว่า "หากผิดสัญญา ผู้รับอนุญาต (จำเลยทั้งสิบ) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท" เป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานที่จำเลยทั้งสิบปฏิบัติผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กำหนดค่าเสียหายในสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 200,000 บาท เท่ากันทุกฉบับโดยไม่ได้พิจารณาลักษณะการกระทำและความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคน อีกทั้งจำเลยทั้งสิบประกอบวิชาชีพเป็นครูโดยทำงานอยู่กับ ล. และ ด. ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่ ล. และ ด. การห้ามจำเลยทั้งสิบไม่ให้รับจ้างหรือทำงานกับ ล. และ ด. ต่อไปย่อมทำให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยทั้งสิบในการหางานด้วย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสิบจงใจปฏิบัติฝ่าฝืนสัญญาที่ทำกับโจทก์ การกำหนดให้จำเลยทั้งสิบต้องชำระเงินแก่โจทก์คนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เมื่อโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินคนละ 200,000 บาท และเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกทางประกอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่ ล. และ ด. ก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสิบชำระเงินแก่โจทก์ในอัตราคนละ 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบชดใช้ค่าสูญเสียประโยชน์คนละ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 50,000 บาท นั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์จากจำเลยทั้งสิบได้เพราะค่าเสียหายดังกล่าว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 ให้โจทก์เรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15707/2557
               ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมต้องนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยทั้งนี้เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยและการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย โจทก์ร่วมจึงจะขอให้บังคับใช้สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ ปรากฏว่ารายการ "National Geographic" เป็นรายการเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์และคนซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์เอง เมื่อโจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวแล้วจะอนุญาตให้แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางเคเบิลทีวีซึ่งจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนจึงจะสามารถแพร่เสียงแพร่ภาพรายการของโจทก์ร่วมได้ การแพร่เสียงแพร่ภาพทางเคเบิลทีวีอาจดำเนินการทางระบบสายและระบบจานโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่รายการของโจทก์ร่วมในประเทศไทยคือบริษัท ย. กับบริษัท บ. โจทก์ร่วมจะยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการดังกล่าวไปยังดาวเทียม จากนั้นดาวเทียมจะส่งสัญญาณกลับมาที่ภาคพื้นดินโดยสมาชิกจะต้องใช้จานหรือเครื่องรับสัญญาณซึ่งต้องมีสมาร์ตการ์ด จึงจะสามารถรับสัญญาณดาวเทียมและชมรายการของโจทก์ร่วมได้ สัญลักษณ์ "National Geographic" เป็นสัญลักษณ์ของโจทก์ร่วมและเป็นสิ่งแสดงว่ารายการนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ในกรณีที่มีการรับสัญญาณรายการ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. จะปรากฏทั้งสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" ที่หน้าจอโทรทัศน์ โดยสัญลักษณ์นั้นจะปรากฏอยู่คนละด้านกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต้องเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่ส่งสัญญาณผ่านบริษัท ย. ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกเคเบิลทีวีของบริษัท ย. โดยที่หน้าจอโทรทัศน์จะปรากฏสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" อยู่คนละด้าน เมื่อปรากฏว่าที่จอโทรทัศน์ในบ้านที่เกิดเหตุของผู้เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 มีภาพแสดงรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ซึ่งมีสัญลักษณ์"National Geographic" เท่านั้น ไม่มีสัญลักษณ์ "UBC" แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งรายการโทรทัศน์ "National Geographic" โดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยของโจทก์ร่วม แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพจากดาวเทียมอื่นซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมที่โจทก์ร่วมยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. ในประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอื่นที่มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) 
เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสี่ได้ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ริบนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้ จึงต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557
               งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต 
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2557
               ในการจัดทำแผนที่ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียง และเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ แม้ถนน ซอย และสถานที่ต่างๆ ที่ลงในแผนที่จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้น อันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งและเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง 
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า ว. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวได้ลิขสิทธิ์มาจากการรับโอนจากผู้สร้างสรรค์งาน แตกต่างจากคำฟ้องที่บรรยายว่า ว. เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันนี้เป็นเพียงรายละเอียดของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของ ว. เท่านั้น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง 
แผนที่ที่ ว. มีลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิมที่ทำในปี 2529 คือแผนที่เอกสารหมาย จ.28 แต่ ว. โอนลิขสิทธิ์ให้ บ. ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี โดยแต่ละครั้งที่สิ้นสุดกำหนดเวลาโอนลิขสิทธิ์ทำให้ ว. ได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมานั้น ย่อมได้คืนเฉพาะงานแผนที่ที่ได้โอนไปแต่แรกตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น ส่วนแผนที่เพิ่มเติมที่ บ. ปรับปรุงย่อมไม่โอนไปยัง ว. เพราะไม่มีข้อตกลงให้โอนลิขสิทธิ์ส่วนที่สร้างสรรค์เพิ่มเติม เมื่อ ว. ได้ลิขสิทธิ์ในแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 กลับคืนมาแล้วโอนลิขสิทธิ์ต่อแก่โจทก์ โจทก์นำมาจัดพิมพ์เป็นแผนที่เอกสารหมาย จ.18 จึงมีส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 อยู่ด้วยส่วนหนึ่งกับส่วนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์โดยการรับโอนจาก ว. เฉพาะแผนที่ส่วนดั้งเดิมและย่อมมีอำนาจฟ้องเฉพาะส่วนดังกล่าว 
แม้การทำแผนที่ออกมาเหมือนกัน โดยบุคคลคนละคนกันอาจเป็นเพราะเป็นการจัดทำจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่จริงโดยไม่ได้ลอกเลียนกันอันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากการทำแผนที่เหมือนกันโดยใช้แผนที่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเป็นต้นแบบในคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์กับแผนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว พบส่วนที่คลาดเคลื่อนเหมือนกัน 3 รายการ ย่อมแสดงได้ว่าเป็นการลอกเลียนจากแผนที่ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ แต่โจทก์มีลิขสิทธิ์เฉพาะงานแผนที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลอกเลียนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่พัฒนามาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.28 มาก จนไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำซ้ำโดยการคัดลอกงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คงถือได้ว่าเป็นเพียงการดัดแปลงเท่านั้น 
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายแผนที่ของตนก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วนของงานตามฟ้องจึงสมควรกำหนดโทษให้น้อยลงตามสมควรด้วย    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557
               ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 40,000 บาท สูงเกินไป ค่าเสียหายหากมีจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41 
การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น 
ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) 
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า "MAGIC ABACUS" เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือชื่อ "MAGIC ABACUS" นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6989/2557
               คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ปรากฏตามสำเนาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในสิทธิทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า ป. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด โจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ป. ให้ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารท้ายฟ้อง ข้อ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า "จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงของ ป. โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้บริการขับร้องเพลงคาราโอเกะแก่บุคคลทั่วไปชนิดห้องส่วนตัวและให้พนักงานมาบริการโดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง ภายในห้องคาราโอเกะมีจอโทรทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งบรรจุข้อมูลเพลงที่พ่วงติดกันพร้อมใช้งานอยู่ โดยใช้รีโมตคอนโทรลในการเลือกเปิดเพลง ตัวแทนของโจทก์เข้าไปใช้บริการขับร้องเพลง จึงพบว่าในสมุดเลือกเพลงมีผลงานเพลงของ ป. อยู่จำนวนมาก มีรายชื่อเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา เพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า และผลงานต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อีกหลายเพลงซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. ประกอบไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณภาพแบบเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงออกทางจอภาพและลำโพง และต่อมาตัวแทนของโจทก์กดเลือกเพลง ก็ปรากฏมีภาพงานเพลง คำร้อง ทำนอง ภาพมิวสิกประกอบเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา และเพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า ซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. โดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง อันเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ป. และโจทก์" เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าได้มีการบันทึกงานดนตรีกรรมและบันทึกเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ทั้งสามเพลงของ ป. ไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิใช่ความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ซึ่งตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน" เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาด้วยก็ตาม แต่ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีองค์ประกอบของความผิดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2557
               การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์ทั้งสองมีลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดเท่านั้น มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาว่าจ้างผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันละเมิดความลับทางการค้าสำหรับสูตร วิธีการ และขั้นตอนการผลิตกระเบื้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดดังกล่าว เมื่อแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่งานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ที่ 1 อ้างตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ย่อมไม่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าวได้
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4968/2556
               การกระทำอันเป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คำว่า ดัดแปลง หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนคำว่า ทำซ้ำ หมายความรวมถึงการคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังนั้น การกระทำที่เป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงเป็นการคัดลอกงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มจริงกับเล่มที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้นเกิดจากการพิมพ์ที่ไม่เรียบร้อย พิมพ์ผิดพลาด พิมพ์ซ้ำ หรือจัดหน้ากระดาษผิด มิใช่เป็นการคัดลอกโดยเปลี่ยนรูปใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนังสือของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555
               การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น 
เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้ว มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 
การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์ 
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรมาด้วย ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อที่โจทก์ร่วมอ้างมาในอุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13159/2555
               สิทธิของนักแสดงในประเทศไทยเพิ่งจะได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก โดยบัญญัติอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ต่อจากหมวด 1 ว่าด้วยลิขสิทธิ์ แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นักแสดงซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 44 และ 45 มีความหมายตามบทนิยามในมาตรา 4 ว่า "ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด" โดยมาตรา 44 และตามบทนิยามมาตรา 4 มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครองในฐานะสิทธินักแสดงควรเป็นเช่นไร แต่เมื่อพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์และเนื้อความจากบทนิยามในมาตรา 4 จะเห็นได้ว่าสิทธิของนักแสดงเป็นการที่นักแสดงได้นำงาน "ดนตรีกรรม" หรืองาน "นาฏกรรม" อันได้แก่ การเล่นดนตรี การร้อง หรือการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์มาแสดงให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรือนำคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาแสดงให้บุคคลอื่นชื่นชม โดยที่นักแสดงนั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์งานหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซึ่งการนำเสนองานดังกล่าวนักแสดงได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะให้เกิดมีคุณค่าอันควรได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องจากผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ทำนองเป็นสิทธิข้างเคียงกับลิขสิทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ของนักแสดงแล้วก็จะได้สิทธินักแสดงเสมอไปโดยไม่มีข้อจำกัด โดยที่สิทธิของนักแสดงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นี้ ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น จะต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย 
โจทก์เป็นนักแสดงโดยรับจ้างให้ทำหน้าที่พิธีกรร่วมในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า มีหน้าที่วิจารณ์และสัมภาษณ์นักแสดงที่เชิญมาร่วมงาน โดยโจทก์แสดงท่าทาง เต้นและร้องเพลงให้งานสนุกสนานเท่านั้น ซึ่งลักษณะการกระทำของโจทก์ไม่ได้เป็นการสื่อความหมายหรือแสดงให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงที่เป็นการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบเป็นเรื่องราวของนักแสดงตามที่บัญญัติไว้ในบทนิยามมาตรา 4 ทั้งไม่ปรากฏว่าสิ่งที่โจทก์นำมาแสดงประกอบท่าทางหรือการแสดงในงานรื่นเริงดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการอุทิศฝีมือหรือความสามารถเฉพาะตัวของโจทก์ซึ่งได้สั่งสมมายาวนานหลายสิบปี ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถในการสร้างความบันเทิงของโจทก์แก่ผู้ร่วมงานตามที่รับจ้างมา ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของสิทธิของนักแสดงอันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586 - 7587/2555
               ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 คำว่า "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด และตามมาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่เพียงผู้เดียวโดยใช้ชื่อผลงานในเว็บไซต์ว่า "ไทยเพอร์ซันแนลคอนเน็กชันส์ (Thai Personal Connections)" และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (ที่ถูก แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ประเภทงานวรรณกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสิ่งเขียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์มีชื่อเว็บไซต์ว่า "Thai Personal Connections" ที่มีข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอกสารท้ายฟ้องนั้น เมื่อพิจารณาตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของโจทก์ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นของโจทก์และข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์โดยโจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย ซึ่งมิใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาษาเครื่อง (machine language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาเครื่องเรียกว่า "object program" หรือเป็นภาษาระดับสูง (high level language หรือ source language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงเรียกว่า "Source program" ดังนั้น ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนเป็นภาษาเครื่อง หรือภาษาระดับสูงดังกล่าว เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วแสดงผลลัพธ์นั้นบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ประกอบกับตามหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ผลงานของโจทก์ชื่อ "Thai Personal Connections" เป็นสิ่งเขียนอันเป็นงานวรรณกรรม มิได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ว่างานดังกล่าวเป็นชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนด้วยภาษาเครื่องหรือภาษาระดับสูงแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังนี้ ตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทยในเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการคัดลอกข้อมูลดังกล่าวลงในเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า เดอะ ไทย เพอร์ซันแนล ทัช (The Thai Personal Touch) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จึงไม่มีมูลอันจะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องได้ 
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 นั้น โจทก์ระบุเพียงบทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษเท่านั้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองสำนวนขายของสิ่งใดโดยหลอกลวงอย่างไรให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดใด สภาพ คุณภาพของสิ่งของนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือปริมาณของสิ่งของนั้นมีจำนวนเท่าใด อันเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไรอันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ทั้งไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 (1) ได้ดี การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2555
               โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสวนอาหารสีน้ำ ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ในงานดนตรีกรรม คำร้องทำนองของผู้แต่ง ผู้ประพันธ์งานดนตรีกรรม คำร้องทำนอง โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงผู้ชนะสิบทิศอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 คำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้อาจมีการกระทำประการใดประการหนึ่งในหลายประการตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่า โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่บรรยายถึงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยกระทำการใดโดยแน่ชัด ก็ย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการอย่างไรในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 การบรรยายฟ้องในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ที่ 1 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี 
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องต่อมาว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ในงานผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพพิมพ์ (ปก) โดยได้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงอกหักไม่ว่า อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวได้มีการบันทึกภาพการขับร้องหรือบรรเลงเพลงอกหักไม่ว่า ลงในแผ่นเสียง เทปคาสเซต ซีดี วิดีโอเทป วิดีโอซีดี หรือบันทึกลงในวัสดุใด และจำเลยกระทำการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วยการทำให้ปรากฏด้วยเสียงหรือภาพโดยวิธีใดเช่นเดียวกัน ส่วนงานภาพพิมพ์ (ปก) นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์นี้และจำเลยได้นำงานดังกล่าวออกแสดงต่อสาธารณชนโดยวิธีใดอีกเช่นกัน ทั้งภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุท้ายคำฟ้อง ก็ไม่ได้สื่อความหมายให้เข้าใจตามคำฟ้องได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด คำฟ้องในส่วนนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุและภาพพิมพ์ของโจทก์ที่ 2 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเช่นกัน การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวทั้งสองส่วนจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2555
               พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีเจตนารมณ์ที่ถือว่าการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงนั้นต้องเป็นการกระทำที่เป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยเฉพาะงานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม และงานวรรณกรรมที่มีลักษณะทำนองเป็นบทพากย์ บทละคร หรือบทที่ใช้แสดงอื่นใดอันอาจนำมาให้บุคคลที่ถือเป็นนักแสดงตามบทนิยามมาตรา 4 แสดง 
การได้สิทธิของนักแสดงที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องมีองค์ประกอบที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตามบทนิยามคำว่านักแสดงในมาตรา 4 และสิ่งที่แสดงหรือการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดงที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นต้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยเท่านั้น 
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นเป็นประเด็นให้วินิจฉัยว่า การแสดงการเดินแบบเสื้อผ้าตามฟ้องมีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมได้อย่างไร จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยและฟังว่าการแสดงการเดินแบบนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมโดยตัวเองหรือเป็นการแสดงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนาฏกรรมอยู่แล้ว ดังนี้แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นนักแสดงหรือผู้แสดงท่าทางในการเดินแบบ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าได้สิทธิของนักแสดง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554
               การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง "หนุ่มดอย" ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า "ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง "เด็กดอยใจดี" ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา" และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ในท่อนสร้อยและคำว่า "ลา ลันลา" ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) 
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ 
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้ 
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ 
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้
       

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554
               ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2554
               พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจน โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 8 ประกอบมาตรา 6 และคำนิยาม "ผู้สร้างสรรค์" ตามมาตรา 4 อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้า โดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูกลื่น ทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโต อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปเด็กผู้ชายมีศีรษะกลมโต สวมเสื้อ กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้า แขนสองข้างวางแนบลำตัว ยืนตัวตรงขาชิดกัน และมีปากกายาวเรียวบางพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา ประกอบกับคำว่า BIC ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปคนประดิษฐ์มีรูปมีดโกนพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา และมีคำว่า Razor King Sensitive Skin Shaver มีรูปมงกุฎอยู่บนตัวอักษร Z เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีส่วนคล้ายกันบ้างก็เฉพาะรูปเด็กประดิษฐ์หรือคนประดิษฐ์เท่านั้น นอกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปเด็กหรือคนประดิษฐ์ก็มีลักษณะนำมาจากรูปร่างของคนอันเป็นสิ่งที่ควรใช้กันได้ทั่วไป ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งหวงกันใช้แต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่ผู้นำมาใช้ภายหลังต้องทำให้เห็นส่วนแตกต่างให้สังเกตเห็นได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าต่างเจ้าของกันโดยไม่สับสนหลงผิด ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวประกอบรายละเอียดอื่นและภาพเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยภาพรวมแล้ว มีความแตกต่างเพียงพอให้สังเกตได้ เมื่อนำสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปวางรวมกันแล้ว ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2554
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝง "หนู มิเตอร์" ของโจทก์มาพิมพ์ลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและซีดีเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า การเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะไม่ได้ทำความเสียหายแก่โจทก์ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ เท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะแล้ว 
แม้โจทก์จะเป็นนักร้องและนักดนตรีซึ่งร้องและเล่นดนตรีตามบทดนตรีกรรมอันถือเป็นนักแสดงตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงของโจทก์และนำภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีและวีซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์มิใช่การกระทำต่อการแสดงสดของโจทก์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดงสดนั้น หรือบันทึกการแสดงของโจทก์และมิใช่การทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 53 อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 44 แต่การที่จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงว่า "หนู มิเตอร์" และมีการถ่ายรูปในการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงของโจทก์โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420    
    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8366/2553
               โจทก์มีสิทธิที่จะนำลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงเพลง "โปรดเถิดดวงใจ" "ปรารถนา" และ "ในฝัน" ขับร้องโดยทูล ทองใจ ไปผลิตเป็นเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียงและแผ่นซีดีเพลงทุกขนาด โจทก์ไม่ได้มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาทไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงไว้ รวมถึงการทำวีซีดีคาราโอเกะด้วย เพราะการทำวีซีดีคาราโอเกะไม่ใช่การทำซีดีเพลงโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง 
โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการทำคาราโอเกะ แต่โจทก์ยังไม่ได้ผลิตวีซีดีคาราโอเกะเพลงพิพาท จึงไม่มีงานซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นต้นแบบที่จำเลยจะคัดลอก เลียนแบบ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยจึงมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานลิขสิทธิ์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2553
               โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์น กับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ได้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง "ESPN" กับ "STAR SPORTS" และรายการข่าวทางโทรทัศน์ข่าว "CNN" ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทยูบีซี (UBC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์ (true visions) ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแก่สมาชิกผู้รับบริการภายในเขตประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ล. ทั้งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ด้วยว่า การรับภาพและเสียงนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย "UBC" แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย จำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่ภาพแพร่เสียงจาก ล. มาโดยชอบหรือไม่ ล. ได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซียและมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่ ล. หรือไม่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553
               การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ต้องเป็นการกระทำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน ตามบทนิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 
ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ตาม แต่การกระทำ "เพื่อการค้า" กับการกระทำ "เพื่อหากำไร" มีความหมายแตกต่างกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เพื่อการค้า ต้องระวางโทษหนักกว่าการกระทำเพื่อหากำไรตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553
               งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ และหรืองานสถาปัตยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกัน ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า "ศิลปกรรม" ไว้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่างและงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใดๆ ก็ได้ เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้วย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้ 
นาฏกรรม หมายความว่า "งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว" แต่การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใดๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา ไม่ใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553
               งานสถาปัตยกรรมต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง งานภาพร่างและงานภาพประกอบต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้ 
การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา มิใช่งานเกี่ยวกับการรำการเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรม รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2553
               เอกสารประชาสัมพันธ์เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าว ไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้อการอบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่จำต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ทั่วไป ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงอาจซ้ำกันได้ เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์แล้ว ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรม ซึ่งแม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อซึ่งอาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญาวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดอบรม แม้จะมีลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ และเมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เปรียบกับของจำเลยทั้งสามแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยต่างวางตำแหน่งรูปรอยประดิษฐ์ลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า "CONSULTANT" เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยทั้งสามไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษคำว่า "BUSINESS" เหนือคำว่า "CONSULTANT" แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า "ADVANCE" เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้วยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญมาก ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอา ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7121/2552
               พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่า เป็นไปได้ที่โจทก์ร่วมวาดแม่แบบก่อนการแกะแบบโดยลอกแบบส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมาจากงานประติมากรรมนางรำคู่ชิ้นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณปราสาทบายน จากนั้นจึงทำบล็อกและแกะแบบต่อไปตามลำดับ หรือไม่ก็อาจนำลายที่ลอกจากงานศิลปะที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งที่เป็นศิลปะไทยหรือศิลปะขอมซึ่งสามารถเขียนลอกลายกันได้อย่างง่ายดายมาเขียนลอกลงไปในส่วนที่เป็นรายละเอียดของงานประติมากรรมนางรำคู่ที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณสถานปราสาทบายนอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากลักษณะการสร้างงานของโจทก์ร่วมเป็นเช่นนั้น ก็ไม่อาจถือได้ว่าการสร้างงานประติมากรรมนางรำคู่ของโจทก์ร่วมเป็นการสร้างงานที่มีความคิดริเริ่มด้วยตนเองหรือใช้ความวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอแม้แต่เพียงขั้นเล็กน้อย 
แม้การทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามโบราณสถานจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความวิริยะอุตสาหะในการทำซ้ำหรือดัดแปลง มิอาจถือเป็นความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานถึงขนาดจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามความหมายของกฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้ขายงานที่ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามวัตถุพยานของโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตามการกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2552
               กรณีมีข้อพิจารณาว่าลูกล้อรถเข็นที่ใช้สำหรับทางเลื่อนที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผลิต และโจทก์ที่ 2 สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานจิตรกรรม งานภาพร่าง หรือแบบจำลองมาเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Originality) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความวิริยะอุตสาหะอย่างไร เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) ของผู้สร้างสรรค์เช่นใด นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าลูกล้อตามวัตถุพยานจะเห็นว่าลูกล้อดังกล่าวมีลักษณะของวัตถุที่ใช้งานในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ได้ โดยมีคุณประโยชน์พิเศษคือมีระบบการล็อกล้อพิเศษสำหรับทางเลื่อน ซึ่งรูปลักษณะของลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวเป็นไปตามข้อจำกัดของรูปแบบลูกล้อที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รูปลักษณะที่ปรากฏจึงเป็นการสร้างลูกล้อเลื่อนขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้งาน แล้วจึงปรับปรุงรูปแบบของลูกล้อเลื่อนให้มีความสวยงามน่าดู เช่น กำหนดส่วนเว้าโค้ง ส่วนมุม และเลือกใช้สีต่าง ๆ โดยความสวยงามน่าดูตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างนั้นไม่อาจที่จะแยกต่างหากไปจากตัวสินค้าที่มุ่งประสงค์ต่อประโยชน์การใช้สอยได้เลย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า ลูกล้อดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นจากงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือเริ่มต้นจากงานที่มีความงาม (Aesthetic work) เป็นจุดเริ่มต้น แล้วนำงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการทำให้สิ่งของเคลื่อนที่ ลูกล้อทางเลื่อนดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2552
               งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมแม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น 
ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวของจำเลย แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 
โจทก์ที่ 2 ได้ว่าจ้างให้บริษัท ด. เป็นผู้ออกแบบงาน โดยมี อ. เป็นผู้ดำเนินการ มีการปรับเปลี่ยนร่างหลายครั้งใช้เวลากว่า 5 เดือน จึงเป็นการสร้างงานดังกล่าวขึ้นด้วยตนเอง ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ที่สร้างขึ้นมีลักษณะเป็นโมเลกุลและแสดงออกถึงพลังและอานุภาพของเม็ดผงซักฟอกสีฟ้า แม้ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิมจึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 
อ. เป็นผู้สร้างงานขึ้น โดยภาพวาดรูปมือในงานนั้นมีลักษณะของการจัดวางมือทั้งสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี เมื่อไม่เป็นการลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้าก็ไม่เป็นเหตุขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ว่า "สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ" เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้ อ. นำมาใช้ประกอบกับภาพวาดรูปมือและประสงค์จะใช้เป็นงานชิ้นเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่า ในการสร้างงานขึ้นมานี้ ภาพวาดกับคำบรรยายดังกล่าวสามารถแยกส่วนออกจากกันได้อย่างชัดเจน ในส่วนของคำบรรยายจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมทั้งภาพ 
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า "งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า" วัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์จึงหมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม และถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพและข้อความอื่น ๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551
               บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย 
กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์ 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์ 
จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551
               โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานที่นำภาพการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ในทางการค้าลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลปประยุกต์ กล่าวคือ เป็นงานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามคำว่า "งานศิลปประยุกต์" ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมาตรา 22 บัญญัติไว้ว่าลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก งานของผู้เสียหายมีการโฆษณางานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2551
               ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน 
โจทก์เป็นผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง "ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ (ในทางนิติศาสตร์) และพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๓๗ กับความคลาดเคลื่อน" นั้น หากพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวมของหนังสือทั้งเล่ม เป็นการหยิบยกคำศัพท์แต่ละคำและความหมายของคำที่จำเลยให้ไว้ในพจนานุกรมขึ้นมาเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ โดยการวิจารณ์คำแต่ละคำเริ่มต้นด้วยคำศัพท์และความหมายของคำแต่ละคำ ต่อด้วยเนื้อหาของการวิจารณ์ที่มีการอ้างบทกฎหมายและความเห็นทางตำราประกอบ และความหมายของคำที่ควรจะเป็น โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลียนแบบผู้ใด นับว่าเป็นงานที่โจทก์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จัดลำดับและเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถือว่าโจทก์ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้น โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานหนังสือดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคแรก ที่จะได้รับความคุ้มครองงานอันเป็นวรรณกรรมของโจทก์ 
สำหรับเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจารณ์คำศัพท์ทั้ง ๗ คำคือ ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ คู่สัญญา ตัวการ พินัยกรรม คดีดำ คดีแดง ซึ่งเป็นบางส่วนของหนังสือที่โจทก์เป็นผู้เขียนนั้น จำต้องวิเคราะห์เป็นคำ ๆ ไป ซึ่งเนื้อหางานวิจารณ์คำแต่ละคำนั้นประกอบด้วย ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่ คำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ ส่วนที่สองเนื้อหาการวิจารณ์ และส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันในคดีนี้ คือ ส่วนความหมายของคำศัพท์ ตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น เนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นบทสรุปดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ความหมายของคำที่เป็นบทสรุปของโจทก์ แต่ละความหมายนั้นแล้วก็พบว่า ความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ล้วนมีเนื้อหาตรงกับความหมายที่ปรากฏอยู่แล้วในกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา แตกต่างกันบ้างเฉพาะถ้อยคำที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การเชื่อมโยงคำ หรือการเรียงประโยค ดังนั้น ในส่วนความหมายของคำว่า ครอบครอง ครอบครองปรปักษ์ ตัวการ และพินัยกรรม ในหนังสือของโจทก์นั้น จึงเป็นเนื้อความในตัวบทกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในความหมายของคำดังกล่าวตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗ (๒) 
ส่วนคำว่า "คู่สัญญา" "คดีดำ" และ "คดีแดง" แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติในลักษณะเป็นการให้ความหมายไว้โดยตรงเช่นเดียวกับคำ ๔ คำที่กล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ได้มาจากการดูตัวบทกฎหมาย และเป็นถ้อยคำที่อาจารย์ของโจทก์ใช้ในการสอนในมหาวิทยาลัยและอธิบายความตั้งแต่เมื่อครั้งโจทก์เป็นนักศึกษากฎหมายซึ่งตรงกับความหมายที่โจทก์ได้ให้ความหมายไว้ จึงทำให้น่าเชื่อว่าความหมายของคำทั้ง ๓ คำดังกล่าว ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของโจทก์เองโดยแท้ หากแต่เป็นความหมายที่มีการสร้างสรรค์และเข้าใจกันโดยทั่วไปมาก่อนโดยผู้ปฏิบัติหรือคณาจารย์ทางนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ จากเนื้อหาของกฎหมาย แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีการถ่ายทอดต่อกันมาโดยทางคำบรรยาย ทางตำราหรือเอกสารทางวิชาการ แล้วโจทก์เป็นผู้นำความหมายดังกล่าวมารวมไว้เท่านั้น ความหมายของคำเหล่านี้จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ในอันที่จะได้รับความคุ้มครอง


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5306/2550
               โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ และสารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัทโจทก์ ข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ตัวเลขแสดงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และรูปภาพผลิตภัณฑ์ประกอบ โดยโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยตนเองจากความรู้ ความสามารถ ความวิริยอุตสาหะ และประสบการณ์ในธุรกิจประเภทนี้มาคิดคำนวณออกแบบผลิตภัณฑ์จนสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพสัมฤทธิผลได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยมิได้ลอกเลียนมาจากผู้อื่น และโจทก์ได้แสดงออกซึ่งข้อมูลนั้นโดยนำมาลงในเว็บไซต์ของโจทก์เอง กับจัดพิมพ์เป็นเอกสารภาษาอังกฤษเป็นเล่มซึ่งประกอบด้วยแค็ตตาล๊อก โบรชัวร์ ประวัติความเป็นมาของบริษัทรายละเอียดคำอธิบายสินค้า และรูปภาพประกอบ โจทก์จึงย่อมได้ลิขสิทธิ์ในข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นงานวรรณกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อมูลซึ่งเป็นงานวรรณกรรมนั้นจะมีคุณภาพหรือไม่ มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ มีอรรถรส มีคนอ่านหรือไม่มีใครอ่านก็ยังถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ในเมื่องานนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวโจทก์เองกรณีหาจำต้องมีอรรถรสหรือสุนทรีภาษาแต่อย่างใดไม่ งานข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ สารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำและรูปภาพประกอบ ในเว็บไซต์ของโจทก์จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง 
จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมของโจทก์ โดยทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูล รูปภาพในเว็บไซต์และในเอกสารโฆษณาสินค้า การทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลต่างๆ ของเครื่องกรองน้ำในเว็บไซต์ มิใช่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เป็นเพียงการทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลต่างๆ ของเครื่องกรองน้ำซึ่งเป็นงานวรรณกรรมต่างหากจากงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 และมาตรา 31 มิใช่ละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 30 เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์โดยการนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำของโจทก์ไปทำซ้ำเป็นรูปเล่มสินค้าเครื่องกรองน้ำออกเผยแพร่ให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสาม คดีโจทก์จึงมีมูลเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 และมาตรา 31 ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 30 มิได้ถูกละเมิด จึงไม่มีมูล    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2550
               พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" ไว้ว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยแล้วว่า จำเลยนำแผ่นวีซีดีซึ่งเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรมเพลง "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ "โบว์รักสีดำ" ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกเป็นสัญญาณภาพและเสียงผ่านออกทางจอภาพและลำโพง ปรากฏเนื้อร้องและทำนองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในร้านอาหารของจำเลยเพื่อให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลง อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยตามความหมายของคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" โดยทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนด้วยเสียงหรือภาพแล้ว ซึ่งในคำฟ้องใช้ถ้อยคำว่า "ทำการแปลงเนื้อร้องและทำนอง" ส่วนคำว่า "เพื่อ" ให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลงในฟ้อง ก็เป็นการบรรยายว่า การเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนฟังอันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2549) 
จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะจำเลยถูกจับกุมและยึดของกลาง จำเลยมิได้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยไม่ได้เปิดเพลงเป็นการเผยแพร่ เพียงจับได้ของกลางแผ่นซีดี 2 แผ่น ในตู้เพลง แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31(2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงกำหนดอัตราโทษตามกฎหมายที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2549
               โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์ผลงานเพลงพิพาทของ ส. ให้แก่ จ. แล้วย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของ ส. กับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ จ. จึงมีสิทธิในผลงานเพลงพิพาท    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2549
               พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในข้อเท็จจริงที่ศาลจะรับฟัง เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏต่อศาลเองว่างานที่ฟ้องร้องกันนี้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้ลงโทษทางอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ 
จำเลยรับสัญญาณภาพและเสียงของโจทก์ร่วมที่ส่งสัญญาณไปตามสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง จากนั้นใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายสัญญาณเคเบิ้ลเข้าเครื่องถอดรหัสสัญญาณไปพ่วงต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ของจำเลย แล้วขยายสัญญาณโทรทัศน์แยกและต่อสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพไปยังห้องเช่าต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยในอาคารของจำเลย โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าห้องพักและค่าบริการจากผู้เช่าเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจัดทำงานแพร่ภาพแพร่เสียงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2548
               การนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และนำออกให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปนั้น มิใช่การกระทำให้ปรากฏซึ่งสิ่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือคำสั่งหรือชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อสาธารณชนโดยการแสดง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดตามความหมายของคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปเพื่อค้าหากำไร เป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไป จึงมิใช่การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ตามฟ้อง ดังนี้ แม้โจทก์จะมีพยานหลักฐานมานำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความตามฟ้องของโจทก์ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้    
    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2548
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเพลง "วันเวลา" และเพลง "เจ็บนิดเดียว" ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ทางไต่สวนโจทก์ได้ความว่าการกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น เป็นการนำชื่อเพลงดังกล่าวไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์และม้วนวิดีโอเทปบันทึกภาพพร้อมเสียง การกระทำที่เป็นการนำเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ตามฟ้อง กับการนำแต่ชื่อเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปลงโฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ทางโทรทัศน์นั้นเป็นการกระทำที่แตกต่างกัน งานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรม ซึ่งงานดนตรีกรรมที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 จะต้องมีทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้วเป็นหลัก จะมีคำร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ลำพังเฉพาะคำร้องหรือชื่อเพลงยังไม่ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความว่า "หมดปัญหากับภาษาต่างดาวด้วย SOKEN VCD & DVD โชว์ชื่อเพลง MP3 เป็นภาษาไทย" และมีข้อความว่า "แสดงหน้าจอ MP3 แบบภาษาไทยจาก VCD SOKEN 190" อยู่ใต้จอภาพเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีข้อความในจอภาพนั้นว่า "แผ่นดิสก์ MP3 01 วันเวลา 02 "เจ็บนิดเดียว" ส่วนสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ก็เป็นการโฆษณาเช่นเดียวกับที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ จึงเป็นการเอาแต่ชื่อเพลง "วันเวลา" และชื่อเพลง "เจ็บนิดเดียว" มาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่านั้นมิได้นำทำนองเพลงหรือโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานและคำร้องของเพลงทั้งสองดังกล่าวอันเป็นงานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด ลำพังเฉพาะชื่อเพลงทั้งสองมิใช่งานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 และ 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ การนำเอาแต่ชื่อเพลงซึ่งมิใช่งานดนตรีกรรมมาโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่อาจถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมได้ ทั้งการกระทำดังกล่าวก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะโฆษณาขายสินค้าเครื่องเล่น "VCD SOKEN 190" ของตนเท่านั้น มิได้เจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2547
               การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้การตีความสัญญายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญา ศาลจึงต้องแสวงหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยค้นหาเอาจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นด้วย จะถือเอาแต่เพียงชื่อของสัญญาเป็นเกณฑ์เด็ดขาดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ จากข้อความในสัญญาเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงโดยเด็ดขาดหรือเป็นแต่เพียงสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบ หรือ 1 เวอร์ชั่น หาได้มีข้อความชัดเจนดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญาเป็นสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบ หรือ 1 เวอร์ชั่นเท่านั้น มิได้มีเจตนาทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวกันแต่อย่างใด ลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นจึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในดนตรีกรรมคือเพลงทั้งสิบสี่เพลงตามคำฟ้องยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 มิได้โอนไปเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตมาสเตอร์เทปเพลงทั้งสิบสี่เพลงดังกล่าวเป็น 3 ชุด ซึ่งเป็นคนละเวอร์ชั่นกับมาสเตอร์เทปที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่โจทก์ ย่อมมิใช่การดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามคำฟ้อง    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546
               โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่จัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม และสำนักงาน ก.พ. ก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และหนังสือ "คู่มือการประเมินและติดตามผลสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง และในการเขียนหนังสือคู่มือทั้งสองเล่มของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่ม หาใช่สำนักงาน ก.พ. ไม่ 
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง หากจำเลยที่ 1 นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 (1) หากจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 (1) แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน 
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงาน แนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และ "คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ 
แม้ในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบธุรกิจเอกชน เพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้กำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ 
มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้น และมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ (2) 
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง ถึงมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ 1 จะเขียนหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันการศึกษาโดยไม่ได้หากำไร ซึ่งเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (7) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว 
การคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันอาจถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร 
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรม จัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด 8 หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 
เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6523/2545
               จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แม้การกระทำของ พ. นักสืบอิสระ จะมีลักษณะเป็นการสุ่มซื้อโดยไม่ประสงค์จะได้โปรกแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีใบอนุญาตก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาพยานลักฐานมาดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิด จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายแบบโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีมีได้ 
จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการได้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ผู้ซื้ออันเป็นการแถมให้เปล่าไม่คิดมูลค่า คงคิดราคาเฉพาะตัวเครื่อง โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้ขายหรือเสนอขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) คงมีความผิดตามมาตรา 31(3) เพราะเป็นการแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเท่านั้น    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2545
               เมื่อเกิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญา จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้นนอกจากโจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้อง ยังต้องได้ความว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้อีกด้วย 
เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว และโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างนาย ฟ. ไปทำการล่อซื้อ จึงเท่ากับว่าโจทก์มีส่วนเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามคำฟ้องขึ้นเอง โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543
               พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์"แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2000/2543
               งานภาพพิมพ์รูปการ์ตูนหมีพูห์ของผู้เสียหาย อันเป็นศิลปกรรมอยู่ในประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายสร้างสรรค์จินตนาการเป็นงานศิลปกรรมนั้น เป็นการสร้างสรรค์จินตนาการโดยวิจักขณ์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่เรียกกันว่า "หมี" (BEAR) มาเป็นงานศิลปกรรมในรูปการ์ตูน มนุษย์เมื่อพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็สามารถสร้างจินตนาการในศิลปะลักษณะต่าง ๆ กันได้ และเมื่อการสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนมีที่มาจากสัตว์ธรรมชาติอย่างเดียวกัน โดยการริเริ่มขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน งานศิลปกรรมดังกล่าวจึงอาจจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้โดยไม่จำต้องมีการลอกเลียนทำซ้ำหรือดัดแปลงงานของกันและกันแต่อย่างใด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ความคิดในการสร้างสรรค์งาน ฉะนั้น การใช้ความคิดริเริ่มนำความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์เป็นภาพการ์ตูนจึงเป็นความคิดที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดเท่านั้นและการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดดังกล่าวจนถึงขั้นที่ผู้สร้างสรรค์จะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์นั้น ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 8 ด้วย 
แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อลูกโป่งมาขายแก่ลูกค้าโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพบนลูกโป่งว่าจะเป็นภาพใด แต่เน้นที่สีของลูกโป่ง เนื้อของลูกโป่ง ความยืดหยุ่น และลูกโป่งที่ไม่รั่วเท่านั้น ทั้งลูกโป่งดังกล่าวที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้แยกออกมาจากลูกโป่งจำนวนประมาณ 1,000,000 ใบ มีจำนวนเพียง 4,435 ใบ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ข้อเท็จจริงจึงไม่พอให้รับฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพพิมพ์บนลูกโป่งของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยยังนำลูกโป่งที่มีภาพพิมพ์นั้นออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ 70 วรรคสอง    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533
               พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้น และมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่า หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานผู้อื่น ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอด รูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2530
               ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตน สร้างสรรค์ โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชาย บาง ตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ ตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้อง วีดีโอเทปของกลาง 2 ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลในระหว่างการพิจารณาไม่ใช่ของกลางที่พนักงานสอบสวนได้ยึดไว้ในคดี และโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ แม้วีดีโอเทปดังกล่าวจะมีภาพลามกรวมอยู่ด้วยอย่างเดียวกันกับวีดีโอเทปของกลาง 1 ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้


=========================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view