หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดฐานยักยอก


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2562
               คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
        


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560
               แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้ 
จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560
               ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย 
แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560
               แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560
               แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว 
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง 
จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560
               ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
               โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8426/2559
               แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559
               ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3 
คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559
               ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2559
               คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 56 เดือน การที่ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี และต่อมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าคดีมีทางตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลชั้นต้น 883,357 บาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดพิสูจน์ต่อศาล ชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด แสดงว่าจำเลยที่ 1 วางเงินจำนวนดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี มิใช่เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นเหตุบรรเทาโทษจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง มิได้ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อถึงวันนัดสมานฉันท์ครั้งที่ 2 ทนายโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดแถลงว่า ไม่ประสงค์จะเจรจากับฝ่ายจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำมูลเหตุในคดีนี้ไปฟ้องโจทก์บางคนเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 6 คดี และหลังจากนั้นโจทก์บางคนซึ่งได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นที่แจ้งให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดและได้นำเงินวางศาลจำนวน 883,357 บาทแล้ว ก็ไม่ได้มารับเงินที่จำเลยที่ 1 วางไว้ไปจากศาลชั้นต้น จนกระทั่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ประสงค์ที่จะยอมความกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ขอถอนเงินที่วางศาลคืน ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้เป็นไปตามเจตนาของจำเลยที่ 1 แล้วศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ดมารับเงินก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558
               โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089 - 13090/2558
               ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
   
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12811/2558
               กรณีจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นโดยทุจริตตั้งแต่ที่เข้าแย่งการครอบครอง แต่ขณะที่จำเลยยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะเอาไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรก จำเลยยังคงพักอยู่ที่โรงแรมตรงข้ามอู่ซ่อมรถของผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยหลบหนีออกจากโรงแรมโดยนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปด้วย เพราะไม่ต้องการชำระค่าซ่อมรถที่จำเลยค้างชำระผู้เสียหาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองเป็นของจำเลยโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558
               การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ 
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์โดยยกเอาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แล้วนำเอาหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องมาปรับเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง 
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
              ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9890 - 9891/2558
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดกของ ล. เจ้ามรดก โดยโจทก์ร่วมซึ่งเป็น ผู้จัดการมรดก เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์รวมอยู่ด้วย แม้ฟ้องโจทก์ระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเพียงระบุถึงสถานะของโจทก์ร่วมเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ล. ทั้งตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมก็กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสี่ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป โดยระบุรายละเอียดว่าโจทก์ร่วมได้ทรัพย์แต่ละรายการมาอย่างไร และให้การเพิ่มเติมภายหลังว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์โดยได้รับความเสียหายในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือเจ้าของรวม เป็นการแจ้งความในฐานะส่วนตัว มิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล. ดังนั้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ว่า เมื่อฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตามฟ้องโดยไม่จำต้องเป็นเจ้าของหรือเจ้าของรวมในทรัพย์ของกลาง จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวชอบแล้ว
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9093/2558
               จำเลยเป็นพนักงานแผนกห้องอาหารของบริษัท ก. ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม มีหน้าที่นำใบเสร็จรับเงินไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มแล้วนำเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวส่งให้โรงแรม การที่จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ใช้เรียกเก็บเงินไปแล้วมาลงวันที่และเขียนรายการใหม่ แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายใหม่ ก็เพื่อไม่ต้องนำเงินจำนวนที่จำเลยเรียกเก็บใหม่ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทางโรงแรมเพราะไม่มีหลักฐานการรับเงินที่แท้จริงและเก็บเงินจำนวนนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยคือโรงแรมที่ต้องเสียค่าแรงงานและค่าอาหาร เมื่อลูกค้าไม่ยอมชำระเงินค่าอาหาร บริษัท ก. จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานพยายามฉ้อโกง 
สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อคดีนี้ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ทั้งคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558
               ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี ม. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2558
               ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 943,606 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
               ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย
  

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2558
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในการกระทำความผิดสำเร็จแต่ละครั้ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดฐานยักยอกในแต่ละครั้งตามที่โจทก์บรรยายฟ้องแล้ว แม้พฤติการณ์และรูปแบบในการกระทำความผิดจะเป็นอย่างเดียวกัน และระยะเวลาในการกระทำผิดไม่ห่างกันมากก็ตาม แต่การที่จำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อย่อมเป็นความผิดสำเร็จแต่ละครั้งแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์แต่ละข้อแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 
หนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหาย วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ดังนี้ ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557
               โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก 
แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร 
จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตามฟ้อง 674,903 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกเป็นเงิน 600,366 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 674,954 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 600,417 บาท เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2557
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนอาญา คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนอาญา อันมีผลทำให้ไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะในส่วนอาญาให้จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษต่อไปอีก 
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอก และทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แต่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้อง ทั้งโทษตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ก็หนักกว่าโทษตามมาตรา 352 และมาตรา 358 ที่โจทก์ฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248 - 15249/2557
               จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้ 
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด 
เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ 
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
   

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2557
               วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13398/2557
               โจทก์ร่วมและจำเลยมีข้อตกลงกันว่า หากลูกค้าต่อรองราคาต่างหูเพชรพิพาทจำเลยจะต้องโทรศัพท์สอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าสามารถขายในราคาดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อตกลงนี้มีผลทำให้จำเลยไม่มีอิสระในการกำหนดราคาขายได้จริง นิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการที่โจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางแก่จำเลยให้ไปขายแทนโจทก์ร่วม ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเรื่องตัวแทน โดยจำเลยเป็นตัวแทนขายต่างหูเพชรของกลางให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ร่วมผู้เป็นตัวการ เมื่อจำเลยครอบครองต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมแล้วนำไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13043/2557
               กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 
แม้โจทก์ที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้ค่าขาดประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ จึงไม่กำหนดให้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
               โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557
               ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ 
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430 - 8432/2557
               สัญญาการเลี้ยงไก่มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 3 ต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยง และเมื่อส่งไก่ใหญ่ให้แก่โจทก์ร่วมจึงจะคิดราคาไก่ที่ส่งกับต้นทุนทุกอย่างที่รับไปจากโจทก์ร่วม เช่น ลูกไก่ อาหารไก่ วัคซีน และการขนส่ง ถ้าคิดราคาไก่ที่ส่งได้เงินสูงกว่าราคาต้นทุน จำเลยที่ 3 ก็ได้กำไร แต่หากคิดราคาไก่ได้น้อยก็ขาดทุนซึ่งโจทก์ร่วมจะหักเงินประกันชำระต้นทุนส่วนที่ขาด 
หลังจากโจทก์ร่วมส่งลูกไก่ให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ความรับผิดชอบในตัวไก่ทั้งหมดตกไปอยู่แก่จำเลยที่ 3 ผู้เลี้ยงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การดูแลรักษา หรือการป้องกันภัยต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดแก่ตัวไก่หากเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นไม่ว่าจะเป็นไก่ตาย ไก่เป็นโรค หรือไก่พิการจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับไปซึ่งความเสียหายนั้นเพียงผู้เดียว กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ก็จะไม่มีไก่ไปส่งหรือไก่ที่ส่งไม่ได้น้ำหนักและราคา อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ขาดทุนเมื่อคิดหักกับต้นทุน เช่น ค่าลูกไก่ ค่าอาหารหรือค่าวัคซีนที่รับไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งกรณีขาดทุนโจทก์ร่วมก็จะหักเอาจากเงินประกัน แสดงว่า ในส่วนของโจทก์ร่วมลูกไก่ที่มอบให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงจะได้คืนหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะแม้ไม่ได้คืนหรือได้คืนในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ร่วมก็สามารถหักเอาเงินประกันได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของลูกไก่หลังจากส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแล้วได้แม้ในสัญญาการเลี้ยงไก่จะเขียนให้โจทก์ร่วมยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม นอกจากนั้น พิเคราะห์จากคำเบิกความของ ว. กรรมการผู้จัดการโจทก์ร่วมที่ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน ก็เห็นได้ชัดว่า โจทก์ร่วมมอบลูกไก่ให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงในลักษณะซื้อขาย ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136/2557
               โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ในคำร้องจะไม่ได้ระบุว่า ให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ก็ถือว่าโจทก์ร่วมขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมดังกล่าวว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมว่า รวม โดยยังไม่ได้พิจารณาว่า จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้น ที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ดำเนินการดังกล่าวและยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2557
               ผู้เสียหายเป็นร้านค้าชุมชนก่อตั้งโดยราษฎรในชุมชนมีสมาชิกประมาณ 700 คน สมาชิกแต่ละคนต้องลงหุ้นคนละ 1 หุ้น ส. เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นประธานกรรมการของผู้เสียหาย ภายหลังจาก ว. พนักงานบัญชีของผู้เสียหายตรวจสอบพบว่า สินค้าในร้านหายไป ว. แจ้งให้ ส. และคณะกรรมการทราบถึงกรณีสินค้าขาดจำนวนภายในเดือนมีนาคม 2553 และคณะกรรมการลงมติให้มีหนังสือถึงจำเลยพนักงานขายของผู้เสียหายให้ไปชี้แจง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดภายในเดือนดังกล่าว ส. เป็นสมาชิกของผู้เสียหายโดยเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ส. จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหายักยอกด้วย เมื่อ ส. ไปร้องทุกข์ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ ส. และคณะกรรมการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557
               ฮ. เป็นบุคคลสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ฮ. และโจทก์ร่วมเป็นสามีภริยาตามกฎหมายของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฮ. ซื้อห้องชุด แต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจและชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อันเป็นการกระทำแทน ฮ. ชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่ ฮ. และโจทก์ร่วม การที่จำเลยแจ้งเท็จว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับเดิมสูญหายเพื่อขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดย ฮ. และโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของ ฮ. และโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายแย่งการครอบครอง ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขาย เงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลย เพราะ ฮ. หรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิใช่แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557
               จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2557
               ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556
               จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ 
ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
               จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2556
               การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ได้สูญหายไป แล้วนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งจะเป็นความเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์หากจะพึงมีพึงเป็นอย่างไรในที่ดินแปลงนั้นในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็คงมีอยู่ตามเดิมมิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในฐานะหุ้นส่วนและมีสิทธิว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนได้เช่นเดิม โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ 
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกคำฟ้องของโจทก์ขึ้นกล่าวเพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท หลังจากนั้นก็กล่าวอ้างถึง ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ มาตรา 1363 และทางนำสืบของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 อย่างไรฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง 
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันยักยอกรวมกันมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยมิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานยักยอกเป็นสองกรรมเกินจากที่กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสองกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4169/2556
               จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 - 3814/2556
               จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2556
               บริษัท ร. ประกอบธุรกิจส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต พ. ทราบว่าตนในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จะต้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงโอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงให้ตนเองพ้นความรับผิดทางอาญาโดยให้จำเลยเป็นผู้รับโทษในทางอาญาแทนตน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องบริษัท ร. และจำเลยเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุด นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่าง พ. กับจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ. ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555
               ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555
               กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง 
โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18079/2555
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก แต่ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานรับของโจร เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และแม้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดฐานรับของโจร แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 วางแผนโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ความผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนหุ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นความผิดฐานร่วมยักยอกตามฟ้อง ฉะนั้น คดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขาดอายุความแล้วเช่นกัน
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15558/2555
               จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของเทศบาลนครหาดใหญ่ มีหน้าที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมตั้งแผงลอยขายอาหาร ทำสัญญาเช่าโต๊ะวางขายของและเก็บเงินค่าเช่าโต๊ะประจำเดือน ทั้งจัดทำใบนำส่งเงินให้เจ้าหน้าที่รับเงินเป็นประจำทุกวัน การที่จำเลยเรียกเก็บเงินค่าวางแผงขายของจากพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผงขายสินค้าจากเทศบาลนครหาดใหญ่เกินกว่าจำนวนแผงขายสินค้าในพื้นที่ของเทศบาลนครบาลหาดใหญ่ทั้งที่เช่าจากเทศบาลนครนครหาดใหญ่และไม่ได้เช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ตามความเป็นจริงแล้ว จำเลยนำส่งเงินให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นจำนวนตามแผงที่พ่อค้าแม่ค้าเช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ แต่ไม่นำส่งเงินที่เรียกเก็บเกินจากพ่อค้าแม่ค้าให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยจำเลยระบุจำนวนเงินลงในต้นฉบับใบเสร็จรับเงินตามจำนวนแผงวางขายสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้าวางแผงขายสินค้า แต่ระบุจำนวนเงินลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินตามจำนวนแผงที่พ่อค้าแม่ค้าเช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ ถือว่าพ่อค้าแม่ค้าที่วางแผงเกิน ประสงค์จะจ่ายเงินตามจำนวนเงินที่วางแผงเกินให้แก่เทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว เมื่อจำเลยรับเงินไว้ต้องถือว่ารับแทนเทศบาลนครหาดใหญ่ การที่จำเลยเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่นำเงินส่งแก่เทศบาลนครหาดใหญ่ ย่อมเป็นการยักยอกเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง 
ผู้เสียหายมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้อันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะถือว่าผู้เสียหายรู้ด้วยหาได้ไม่ เมื่อนายกเทศบาลนครหาดใหญ่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 และคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการตรวจสอบและทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 และผู้เสียหายร้องทุกข์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 3 เดือน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13254/2555
               ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้รับเงินจากการจำหน่ายคูปองบริการให้แก่สมาชิกของโจทก์ร่วม หลายรายการ รวมเป็นเงิน 1,737,032,30 บาท อันเป็นเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,737,032,30 บาท แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏว่าเป็นความผิดหลายกรรม ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องการให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ดังนี้แม้จะพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นหลายกรรม ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยหลายกระทงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12342/2555
               ตามรายการรับมอบเพชรมีการระบุราคาของเพชรแต่ละรายการไว้ และมีข้อความกำหนดเงื่อนไขว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบในความสูญหายและเสียหายของเพชรกับมีหน้าที่ต้องส่งมอบเพชรคืนเมื่อทวงถาม โดยไม่ปรากฏข้อตกลงในส่วนของค่าตอบแทนการขายที่จำเลยจะได้รับ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ย่อมแสดงว่าจำเลยอาจนำเพชรไปเสนอขายในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อขายได้แล้วต้องส่งเงินแก่ผู้เสียหายตามราคาที่กำหนดกันไว้เท่านั้น การครอบครองทรัพย์ของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงหาใช่เป็นการที่จำเลยได้รับมอบหมายให้ครอบครองเพชรดังกล่าวไว้ในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย หากแต่เป็นกรณีครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่ผู้เสียหายกับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยผู้เสียหายให้จำเลยนำไปขาย เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12058/2555
               เมื่อพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์โดยตลอดแล้วแสดงว่าโจทก์มีเจตนาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น มิใช่โจทก์มีเจตนาที่จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินกว่าสามปี การต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการตัดสิทธิคู่ความจึงต้องพิจารณาด้วยความเคร่งครัดโดยถือเจตนาของโจทก์เป็นสำคัญ เมื่ออุทธรณ์โจทก์มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุก ซึ่งเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11224/2555
               การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9948/2555
               โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับบริษัท อ. เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน อันมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไว้ในกระบวนการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่) 
ขณะเกิดเหตุแม้จำเลยไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียนและไม่มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยเป็นอาจารย์ฝ่ายทะเบียนและฝ่ายผู้สอน นักเรียนสามารถฝากเงินแก่จำเลยให้นำไปชำระแก่โรงเรียนได้โดยถือเสมือนหนึ่งว่านักเรียนชำระเงินให้แก่โรงเรียนแล้ว และจำเลยมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวไปมอบให้ฝ่ายการเงิน ถือได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายโดยปริยายจากโรงเรียนให้มีหน้าที่รับเงินจากนักเรียนแทนโรงเรียนได้ ซึ่งเมื่อจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากนักเรียนแล้ว เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ไม่ได้เป็นของนักเรียนอีกต่อไป นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ดังนั้นแม้ก่อนโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในคดีนี้ นักเรียนผู้ชำระเงินผ่านจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง และถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากโรงเรียนออกใบรับรองผลการเรียนให้ไปแล้วก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่านักเรียนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหายักยอกตามฟ้องนี้ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ ในส่วนนี้จึงยังไม่ระงับไป เพราะมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียหายและเปลี่ยนข้อหาเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8634/2555
               ก. ตรวจค้นพบลูกกุญแจของกลางที่ตัวจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 หลังจากวันที่จำเลยอ้างว่าเก็บลูกกุญแจของกลางได้สองวัน ทั้งที่จำเลยทราบดีว่ามีการพยายามติดตามหาเนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการรักษาความปลอดภัยในโรงแรม จึงฟังได้ว่าจำเลยเบียดบังลูกกุญแจของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินหายดังกล่าวไว้โดยทุจริต แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง จึงเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ต่างกันในข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้เนื่องจากนำสืบรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2555
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินของ ฮ. และเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไป การกระทำที่โจทก์กล่าวหานี้เกิดขึ้นขณะที่ ฮ. ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อ ฮ. เจ้าของทรัพย์ ฮ.จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 2 (7) แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งให้ ฮ. เป็นผู้เสมือนคนไร้ความสามารถ แต่ ฮ. ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ ประกอบกับ ฮ. มิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฮ. มีอำนาจจัดการแทนได้ตามมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้และถือเท่ากับว่ายังไม่มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2555
               กรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 (3) สำหรับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้" ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 58 (16) ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจและหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้คดี หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ฯ ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ที่เป็นเสียงข้างมาก จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือจะมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทนก็ได้ เมื่อการฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้มอบหมายให้ ช. และ ก. ดำเนินคดีแทน แม้ ช. และ ก. จะเป็นกรรมการของโจทก์หรือสมาชิกโจทก์ก็ไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์และไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ แม้กรรมการของโจทก์คนใดคนหนึ่งจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยลำพัง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5571/2555
               เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ โดยให้มีผลเป็นอันยกเลิก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก เพียงบทเดียว
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2555
               พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่โจทก์ร่วมอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม 
ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 43,150 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 43,150 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว
  

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554
               จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก 
ผู้จัดการมรดกของ ส. รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9822/2554
               คดีนี้พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 42,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนเป็นเงินจำนวน 42,500 บาท อีกไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมต้องเสียค่าธรรมเนียมในเงินจำนวน 42,500 บาท หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 42,500 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องเรียกค่าดอกเบี้ยไม่ได้ แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยขอดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วมเว้นแต่ในกรณีศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงมิต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 42,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

==================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


==================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view