หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560
               ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย 
แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560
               พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 
คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559
               การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558
               ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2557
               แม้โดยสภาพของการสั่งจองพระเครื่อง ต้องมีการกรอกข้อความเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้สั่งจอง จำนวนพระเครื่องและจำนวนเงินที่สั่งจอง มอบต้นฉบับให้ผู้สั่งจองและเก็บคู่ฉบับเพื่อส่งมอบแก่ผู้จัดสร้างดังที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อใบสั่งจองดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่ประการใดแก่โจทก์ร่วม แม้จำเลยไม่คืนต้นฉบับและคู่ฉบับใบสั่งจองดังกล่าวให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามป.อ. มาตรา 188 
ใบสั่งจองที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เพื่อให้เป็นหลักฐานในการสั่งจองพระเครื่องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดสร้าง มิใช่เอกสารตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยไม่คืนให้โจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเอาไปเสีย ซ่อนเร้น ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเช่นกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556
               การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18652 - 18653/2555
               จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำใบส่งชุบนอต สกรู และแหวนอีแปะต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมไปยังโรงชุบ ฮ. ของ ณ. และจากนั้นแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า สินค้าบางส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ร่วมแล้ว เป็นเหตุให้ ณ. หลงเชื่อนำสินค้าบางส่วนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มารับสินค้าบางส่วนของโจทก์ร่วมไปจาก ณ. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
เอกสารที่จำเลยที่ 1 ลักไปจากโจทก์ร่วมเป็นแบบฟอร์มใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าที่ยังไม่มีข้อความ ไม่เป็นเอกสาร คงเป็นแบบพิมพ์ที่ยังไม่กรอกข้อความ จึงมีสภาพเป็นทรัพย์ธรรมดา ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 
การปลอมใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าแต่ละฉบับระบุวันเดือนปี และสินค้าแตกต่างจากกันเป็นการกระทำให้เห็นถึงการแยกเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะให้เกิดผลแตกต่างกัน แม้บางฉบับจะระบุทำในวันเดียวกันก็หาทำให้เป็นกรรมเดียวกันแต่อย่างใดไม่ ถ้าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะทำผิดเพียงกรรมเดียวก็สามารถทำเพียงฉบับเดียวได้ จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะแยกการกระทำต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2554
               จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมอบฉันทะให้จำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงิน รับเงิน และรับสมุดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยใช้และอ้างใบถอนเงินปลอมแก่พนักงานโจทก์ร่วม จนพนักงานโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินตามใบถอนเงินปลอมให้แก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง 
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักและเอาไปเสียซึ่งสมุดบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้วปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมเอาไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอเบิกถอนเงิน เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2553
               แม้ในฟ้องข้อ (ก) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายไป ต่างวันต่างเวลากัน รวม 262 ครั้ง และฟ้องข้อ (ข) โจทก์บรรยายรวมกันมาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และบรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารบันทึกการขายสินค้าประจำวัน (กระดาษเจอร์นอล) ของผู้เสียหาย จำนวน 262 แผ่น ต่างวันต่างเวลากัน จำนวน 262 ครั้ง ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ในข้อ (ก) และข้อ (ข) ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม 2547 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โดยมิได้ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันยักยอกและเอาไปเสียซึ่งเอกสารในแต่ละครั้ง วันเวลาใดให้ชัดแจ้ง ส่วนวันเวลาที่โจทก์อ้างตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้น เป็นเพียงวันเวลาที่แสดงว่าโจทก์ร่วมตรวจพบการทุจริตของพนักงานเก็บเงินในบริษัทโจทก์ร่วมเมื่อใด จะถือเอาวันเวลาตามเอกสารดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อให้เข้าใจเอาเองว่ามีการกระทำผิดข้อหาร่วมกันยักยอกในแต่ละครั้งเกิดขึ้นตามวันเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10959/2553
               ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ซ่อมและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถยนต์รวมทั้งให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนหมายเลขเครื่องยนต์ จำเลยซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท จ. โดยบริษัท จ. ออกเอกสารใบส่งของ/บิลเงินสด ใบกำกับภาษี กับหนังสือแจ้งจำหน่ายและการรับรองหลักฐานการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อ จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัท จ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ซื้อเป็น ส. โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแม้ พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จ. และเป็นผู้ทำเอกสารจะเป็นผู้แก้ไข แต่เมื่อการแก้ไขเกิดจากการแจ้งของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจ เป็นการปลอมเอกสารโดยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนี้ด้วยการใช้ พ. เป็นเครื่องมือ 
ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้ขายได้เรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์แล้ว บริษัท พ. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียหายอีกจึงเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิ
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9141/2553
               ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ ป. ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนผู้เสียหายการที่จำเลยยึดหน่วงโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไว้ สืบเนื่องมาจาก ป. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดให้แก่ผู้เสียหาย โดย ป. จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนหลังจากได้รับโฉนดที่ดินแล้ว และ ป. นำโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน อีกทั้ง ป. มิได้เป็นญาติหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอันใดกับผู้เสียหายในการที่จะดำเนินการรังวัดออกโฉนดให้ผู้เสียหายโดยไม่คิดค่าตอบแทน และผู้เสียหายก็ยอมรับว่า ป. แจ้งว่านำโฉนดที่ดินไปให้ไว้กับจำเลย หากผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 700,000 บาท จะนำโฉนดที่ดินมาคืนให้ และจำเลยยังได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายให้ผู้เสียหายชำระเงินคืนให้ พฤติการณ์มีเหตุอันสมควรทำให้จำเลยเข้าใจว่า ป. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหาย เมื่อ ป. ตกลงให้จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแทนโดยมอบโฉนดที่ดินแก่ผู้เสียหายจนกว่าผู้เสียหายจะชำระค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินให้ก่อนนั้น จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552
               การที่จำเลยกับพวกร่วมกันวางแผนโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกเอาโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงของผู้เสียหายมาอันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหายไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การกระทำทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การทำให้สามารถขายหรือขายฝากที่ดินพร้อมอาคารของผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552
               การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188 
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอันเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5883/2552
               จำเลยซึ่งเป็นนายวงแชร์มีหน้าที่นำเช็คทั้งหกฉบับจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลแชร์ไม่ได้ไปมอบให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเช็คตามฟ้องทั้งหกฉบับที่ลูกวงแชร์สั่งจ่ายให้ไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเอง เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 
จำเลยในฐานะนายวงแชร์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเล่นแชร์ว่า เมื่อจำเลยได้เช็คจากลูกวงแชร์แล้วจะต้องนำเช็คไปมอบให้ ส. ซึ่งประมูลแชร์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยรับเช็คตามฟ้องจึงเป็นการรับไว้แทน ส. เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินออกจากบัญชีจึงเป็นการครอบครองเงินของ ส. แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป ส. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็ค


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2552
               แม้คำฟ้องของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตามแต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปในวันใดแน่ จึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายในในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 แล้วปลอมหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจปลอมที่ทำขึ้นไปใช้ในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้เสียหายเป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ส่วนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้มอบอำนาจมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ การที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น 
เมื่อกรณีเป็นการลักทรัพย์โฉนดที่ดินของผู้เสียหายทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเป็นเอกสารคืนโฉนดที่ดิน พนักงานอัยการคงมีสิทธิเรียกคืนได้แต่โฉนดที่ดินเท่านั้น จะขอให้จำเลยใช้เงิน 1,000,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาเท่ากับมูลค่าของที่ดินแม้โฉนดที่ดินสูญหายไปก็ยังฟ้องเรียกร้องที่ดินกันได้ มิใช่ว่าที่ดินจะสูญไปด้วย ที่ดินยังคงอยู่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกทรัพย์คืนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552
               ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ 
จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2552
               การที่จำเลยกับพวกร่วมกันไปเอาเสียซึ่งหนังสือเดินทางประเทศออสเตรเลียและปลอมหนังสือเดินทางเล่มดังกล่าว โดยนำรูปถ่ายของจำเลยมาติดแทนภาพของผู้มีชื่อในหนังสือเดินทาง จากนั้นจำเลยกับพวกได้ปลอมรอยตราประทับบันทึกการตรวจอนุญาตให้คนเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้จำเลยออกนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551
               จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550
               โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่
   

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550
               เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2548
               ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมเป็นสำคัญ มิได้มุ่งถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของกระดาษหรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายเป็นเอกสารซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ไว้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว คำว่า "เอาไปเสีย" ตามมาตรา 188 จึงมิได้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับคำว่า "เอาไปเสีย" ที่ใช้ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่หมายถึงเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดจากความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน 
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมจัดทำขึ้นมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้เก็บค่าสินค้าซึ่งหากลูกค้าชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 จะต้องมอบใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้ลูกค้าไป ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากโจทก์ร่วมเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ในการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดย ว. หรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมมีสิทธิเบิกถอนเงินได้ และเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วเงินคงเหลือก็คือค่าบำเหน็จตอบแทนการขายซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งนับแต่เปิดบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกถอนเงินและเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากตลอดมา ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ยึดหน่วงไว้ไม่ยอมส่งคืนอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในทางแพ่งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547
               เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองของบริษัท บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบบัญชีกำไร-ขาดทุน และ สำเนาหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่บุคคลสามารถไปขอตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ถือเป็นความลับของบริษัทลูกค้าโจทก์ร่วมอันต้องปกปิด การที่จำเลยใช้เอกสารดังกล่าวปฏิบัติในหน้าที่ให้แก่โจทก์ร่วมเสร็จแล้วไม่นำกลับคืนแก่โจทก์ร่วม จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหรือลูกค้าของโจทก์ร่วมต้องเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่โจทก์ร่วมหรือผู้อื่น 
ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ข้อเท็จจริง หรือ สิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ส่วนข้อเท็จจริง หมายความว่า ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่จริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูล โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336 - 3337/2547
               บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2544
               ผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายและจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาทไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหาย การที่จำเลยนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและได้มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และการที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปเรียกเก็บเงินย่อมเป็นการทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่ง ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด 
จำเลยยักยอกเช็คพิพาทของผู้เสียหายแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ผู้เสียหายย่อมจะต้องถูกธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปตามจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็ค เท่ากับว่าผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินจำนวนตามเช็คนั้นไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ ตาม ป.วิ. อ. มาตรา 43 
ตามคำร้องของผู้เสียหายที่ยื่นเข้ามาประกอบเพื่อขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มิใช่เป็นการยอมความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2544
               แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการเท่ากับยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจึงไม่เป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) แม้จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไป ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2544
               จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมได้รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินแล้วเก็บไว้เองจึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543
               จำเลยฎีกาว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบตามฟ้อง โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อความใดปรากฏอยู่บ้าง ย่อมรับฟังไม่ได้ว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. เป็นเอกสาร จึงลงโทษจำเลยฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นโต้เถียงในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม.ไปจากผู้เสียหายแล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงิน ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
การที่จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปเป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
บัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ ที่จำเลยลักไป เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำของจำเลยที่ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายดังกล่าวลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2542
               จำเลยเป็นตัวแทนของคณะนายทหารประเทศเธอร์แลนด์นำเช็ค 4 ฉบับ ไปชำระหนี้ให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย3 ฉบับ และบริษัทท. อีก 1 ฉบับ ซึ่งตราบใดที่เช็คทั้งสี่ฉบับดังมิได้ส่งมอบให้แก่การสื่อสารฯ และบริษัทท.เช็คทั้งสี่ฉบับจึงยังไม่โอนไปยังการสื่อสารฯ และบริษัทท. คณะนายทหารดังกล่าวยังเป็นเจ้าของเช็คทั้งสี่ฉบับและเป็นผู้ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยนำเอาเช็คสามฉบับที่ผู้เสียหายสั่งจ่ายให้แก่ การสื่อสารแห่งประเทศไทยไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่ จำเลยไม่มีสิทธิ แม้เช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวจะไม่มีการขีดฆ่า คำว่าผู้ถือออกก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิด ฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2542
               จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหายตามวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้นำเงินมอบให้จำเลยเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมที่ธนาคารผู้เสียหาย รวม 9 ครั้งเป็นเงิน 487,810 บาท ในการฝากเงินของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินฝากให้จำเลย จำเลยจะเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค โดยใช้กระดาษคาร์บอนอัดสำเนาแล้วฉีกต้นฉบับไว้และมอบสำเนาให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐานต่อมาจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากจริงแล้วจำเลยนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่แก้ไขใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษา การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 5 ฉบับและการที่จำเลยเขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรให้น้อยลงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากแล้วนำเอกสารที่จำเลยแก้ไขดังกล่าวพร้อมจำนวนเงินตามเอกสารที่ทำขึ้นใหม่ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งเงินเก็บรักษาต่อไป เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 3 ฉบับเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาเพราะต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คมีข้อความแสดงว่าได้รับเงินเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วม ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแก่โจทก์ร่วมที่จะเรียกถอนเงินฝากคืนได้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยทำลายต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค 4 ฉบับ อันเป็นหลักฐานของธนาคารผู้เสียหายซึ่งจำเลยจะต้องนำไปลงบัญชีในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงยอดเงินฝากของโจทก์ร่วม โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะทำลายต้นฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จำเลยได้ยักยอกเงินฝากของโจทก์ร่วมรวม 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยจำเลยได้แก้ไขจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ครวม 5 ฉบับ ให้จำนวนเงินน้อยลงกว่าความเป็นจริง และจำเลยได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นมาใหม่รวม 3 ฉบับ ระบุจำนวนเงินฝากน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝาก แล้วจำเลยนำเงินลงบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมตามจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่จำเลยแก้ไขและทำขึ้นใหม่ และการฝากเงินในวันที่เกิดเหตุมีแต่สำเนาชุดฝากเงินสด-เช็คระบุจำนวนเงินฝาก 20,000 บาท แต่จำเลยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมการที่จำเลยได้เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไป 9 ครั้งเป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น ไม่ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่เมื่อไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2541
    พิมพ์คำพิพากษา
    จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามฟ้องโจทก์ แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ และอาวุธปืนดังกล่าวมีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับหรือไม่ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอลงโทษจำเลยในฐานนี้ 
สำหรับความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ศพของผู้ตายถูกเคลื่อนย้ายไปเพียง20 เมตร และย้ายไปอยู่ในที่เปิดเผยสามารถถูกพบได้โดยง่าย จึงไม่มีลักษณะเป็นการย้ายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายอันจะเป็นความผิดในฐานนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดในฐานนี้
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2541
               โจทก์ร่วมทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันค่าเสียหายที่จำเลยไปทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่จำเลยนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมมิได้ยินยอมยกให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารสิทธิของโจทก์ร่วมในการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ตามบทบัญญัติลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมหมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมนั้นมิได้บัญญัติโดยมุ่งหมายเฉพาะการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังบัญญัติโดยมุ่งหมายไปในทางพยานหลักฐานแห่งคดีอีกด้วยการที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2540
               การที่โจทก์ร่วมฝากให้จำเลยเก็บรักษาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมไว้แล้วจำเลยไม่ยอมคืนให้เมื่อโจทก์ร่วมทวงคืนในภายหลังเป็นกรณีที่ต้องว่ากล่าวกันทางแพ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาเอาเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมไปในลักษณะที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2540
               จำเลยกระทำความผิดโดยเอาไปเสียซึ่งเอกสารเช็ครวม2 คราว แล้วจำเลยได้กระทำการปลอมเอกสารในวันเดียวกันนั้นคือ แก้ไขตัวเลขจำนวนเช็คในเอกสารบัญชีจ่ายเงินซื้อลดเช็ค-ต่อเช็ค และลบตัดทอนข้อความในเอกสารการ์ดลูกหนี้ทั้งนี้ก็โดยเจตนาปกปิดและทำให้ผู้เกี่ยวข้อหลงเชื่อว่าเช็คที่จำเลยเอาไปเสียมิได้มาขายลดเช็คกับบริษัท อ.จึงเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188และ 264 ต้องลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2540
               พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ดึงใบสมัครงานทั้งสองฉบับไปจากมือของผู้เสียหายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยจำเลยที่ 1 กระทำลงไปตามลำพัง จำเลยที่ 2มิได้สมคบร่วมรู้เห็นมาก่อน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเห็นการโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 และเห็นจำเลยที่ 1 แย่งเอกสารจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาณ 20 คน ยืนล้อมผู้เสียหายอยู่และจำเลยที่ 2 ยอมรับเอกสารดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 มิได้มีการกระทำการใด ๆ ที่ส่อแสดงว่ามีการยอมรับการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำต่อผู้เสียหาย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้มีหน้าที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลร้ายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่รับเอกสารจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างมาเก็บรักษาไว้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1599/2540
               สัญญากู้ 14 ฉบับ ผู้เสียหายในฐานะผู้ให้กู้และจำเลยในฐานะผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา มีข้อความระบุว่าจำเลยได้กู้เงินผู้เสียหายไปจำนวน 1,100,000 บาท มีพยานรับรองถูกต้องจึงเป็นสัญญากู้ที่สมบูรณ์ เป็นเอกสารที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดี ให้ชำระเงินกู้จำนวนดังกล่าวได้การที่จำเลยนำเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวไป โดยมิได้นำมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ว่าจะนำไปทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเอาไปด้วยประการใดๆ เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้เสียหายขาดหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี จึงเป็นการกระทำโดยประการที่น่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2539
               ผู้เสียหายและ ล.พี่สาวมีอาชีพให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยและ บ.มีอาชีพติดต่อขอวีซ่าให้แก่บุคคลที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในการให้เช่าเช็คเดินทางเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นผู้เสียหายและ ล.จะซื้อเช็คเดินทางจากธนาคารโดยไม่ลงลายมือชื่อที่ข้างบนและข้างล่างด้านหน้าของเช็คเดินทาง เมื่อมีผู้ขอเช่าผู้เสียหายจะให้ผู้เช่าลงลายมือชื่อที่ข้างบนด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วมอบเช็คเดินทางดังกล่าวให้ผู้เช่านำไปเป็นหลักฐานขอวีซ่า เมื่อเจ้าหน้าที่สถานทูตออกวีซ่าให้แก่ผู้เช่าแล้ว ผู้เช่าจะลงลายมือชื่อที่ข้างล่างด้านหน้าเช็คเดินทางแล้วส่งคืนให้แก่ผู้เสียหาย ดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยกับ บ.เข้ามาพูดทำทีขอเช่าเช็คเดินทางจากผู้เสียหายและ ล.ก่อนที่จำเลยจะดึงเอาเช็คเดินทางจากมือผู้เสียหายไป การที่จำเลยพูดห้ามมิให้ผู้เสียหายและ ล.วิ่งตาม บ.ขึ้นไปที่อาคารชั้น 4 อันเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และบอกว่าจะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เสียหายตลอดทั้งจะคืนเช็คเดินทางให้ผู้เสียหายเป็นเพียงอุบายที่จำเลยกับ บ.จะให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองเช็คเดินทางของผู้เสียหายเพื่อจำเลยและ บ.จะเอาเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปโดยไม่คิดจะคืนให้ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์และการที่จำเลยกับพวกเอาเอกสารเช็คเดินทางของผู้เสียหายไปแล้วไม่คืนให้แก่ผู้เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร การกระทำของจำเลยก็เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการเอาเอกสารผู้อื่นไปเสีย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 188 ด้วย 
การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกันในคดีอาญา เมื่อการสอบสวนได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกต่างหาก หาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2538
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 188, 335,357 จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา357 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษเบากว่า ป.อ. มาตรา 188 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคหนึ่งเท่านั้น ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 188 ไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพตามข้อหาดังกล่าว ปัญหานี้แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2538
               จำเลยเอาเอกสารบัญชีรายชื่อหัวหน้าครอบครัวในเขตชุมชนซึ่งประชาชนนำมามอบให้ผู้เสียหายเป็นผู้เก็บรักษาไว้ไปแล้วไม่คืนให้ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปยื่นต่อผู้อำนวยการเขตเพื่อให้ความเห็นชอบให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งประธานชุมชนได้เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือประชาชนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา188
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2538
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยใช้อุบายหลอกลวงตาม ป.อ.มาตรา 283 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอมเอง อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 ศาลก็มีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3ตาม ป.อ. มาตรา 282 ได้ 
เมื่อความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอม ตาม ป.อ. มาตรา 282 และฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นปกติธุระ ตาม พ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503มาตรา 8 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ย่อมต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 282 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 
การที่จำเลยที่ 2 ยึดถือหนังสือเดินทางและตั๋วโดยสารเครื่องบินของพวกผู้เสียหายไว้ เป็นไปโดยความยินยอมของพวกผู้เสียหายตามข้อตกลงแล้วการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188แม้ความผิดข้อหานี้ต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่เป็นความผิดแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 
จำเลยที่ 1 เพียงขับรถพาหญิงซึ่งสมัครใจค้าประเวณีไปส่งตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย การที่จำเลยที่ 1 รับเงินค่าหญิงบริการจากเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมาก็ต้องนำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการรับไว้แทนจำเลยที่ 2การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ.มาตรา 282 และ พ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 ประกอบกับ ป.อ. มาตรา 86
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2537
               ฟ. ทำพินัยกรรมมอบแก่พระครูน.เก็บรักษาไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1ได้มาขอรับเอาพินัยกรรมดังกล่าวไป แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมนำออกมาเปิดเผย เพื่อมิให้โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรม เมื่อโจทก์ขอพินัยกรรมจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมให้ดู ดังนี้ จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งพินัยกรรมของ ฟ. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แต่โจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มายังศาลภายใน10 ปีนับแต่วันกระทำผิดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1918/2537
               จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม เอาใบวางบิลกับบิลเงินสดและใบส่งของซึ่งเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมไปเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาจะเอาเงินค่าสินค้าเป็นของตนเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของโจทก์ร่วมในประการหนึ่งที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และการที่เอาเช็คที่ลูกค้าของโจทก์ร่วมสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วเบิกเงินไปเป็นของตนเป็นการทำให้เช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก จำเลยที่ 1จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2537
               จำเลยเอาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ ซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วม แล้วนำไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเอาเอกสารของโจทก์ร่วมไปโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 แม้จำเลยมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยด้วยได้
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2535
               คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาความเท็จมากล่าวอ้างกับโจทก์ว่า โจทก์เป็นหนี้ค่าโฆษณาสินค้าแก่บริษัท ม.โจทก์หลงเชื่อจึงได้ออกเช็คมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปชำระหนี้ให้บริษัท ม. แต่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินเป็นของจำเลยที่ 1 พอเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โจทก์หลงเชื่อจึงได้ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่บริษัท ม. โดยมอบเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปมอบให้บริษัท ม. แต่จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นของจำเลยที่ 1 เสียเอง เป็นการบรรยายว่าจำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2534
               การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถและสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้วจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แต่มีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปจดทะเบียนใส่ชื่อบริษัท ซ. จำกัด เป็นเจ้าของรถถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2534
               โจทก์มอบเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์คืนให้แก่จำเลยทั้งสองโดยหลงเชื่อคำขอของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองจะนำรถยนต์มามอบให้แก่โจทก์เป็นการแลกกับเช็คพิพาทในวันรุ่งขึ้นซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกในขณะที่จำเลยทั้งสองมาแจ้งโจทก์ว่าจะนำรถยนต์มามอบให้แก่โจทก์ไม่ใช่เรื่องผิดคำมั่นสัญญา เพราะการที่จำเลยทั้งสองแจ้งโจทก์ว่าจะนำรถยนต์มามอบให้โจทก์ไม่ใช่เหตุการณ์ตามความเป็นจริงในขณะนั้น แต่เป็นแผนการกำหนดขึ้นเพื่อให้โจทก์หลงเชื่อเป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งเช็คอันเป็นทรัพย์สินจากโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341 และยังเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดเอกสารที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกด้วย.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2534
               จำเลยรับเช็คของกลางซึ่งเป็นของผู้เสียหายมาโดยทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาอันเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ.มาตรา 357 เมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามมาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2533
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฉ้อโกงนางสาว ส. ผู้เสียหายและทำลายเอกสารของนาย ธ. ผู้เสียหาย โดยจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยเป็นผู้สื่อข่าวสามารถฝากนางสาว สง เข้าทำงานที่กรมตำรวจได้ และนางสาว ส.ต้องเสียเงินให้จำเลย30,000บาทจนนางสาวส.หลงเชื่อ แต่นาย ธ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้สื่อข่าวจึงนำเงิน 5,500 บาท มอบให้จำเลยเป็นค่ามัดจำค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุมจำเลย จำเลยรับเงินไว้แล้วสั่งจ่ายเช็คให้นาย ธ. ไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยได้แย่งเช็คดังกล่าวคืนมาจากนาย ธ. แล้วฉีกทำลายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นาย ธ. เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาฐานความผิดทำลายเอกสารของผู้อื่น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องว่าเช็คดังกล่าวเป็นของผู้อื่น และการที่จำเลยทำลายนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว เช็คของกลางที่จำเลยฉีกขาดนั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จึงไม่อาจริบได้และต้องคืนให้เจ้าของ สำหรับของกลางในข้อหาฉ้อโกงที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งคืน จึงคืนให้เจ้าของ.


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2531
               การที่จำเลยเอาหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วมและนำไปใช้อายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วโดยคู่สัญญาได้ทำสัญญาขึ้นใหม่แล้วก็ตามการกระทำของจำเลยก็ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2531
               โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงินมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรองว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเปลี่ยน น.ส.3 ให้โจทก์และจะค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุการณ์ในภายหน้าที่จำเลยที่ 1 รับจะดำเนินการดังกล่าวให้ หากโจทก์ไม่พอใจในหลักประกัน แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เปลี่ยนน.ส.3 และไม่ยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่1 ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองที่ให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่1 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 จะต้องเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาไปจากโจทก์ เป็นของจำเลยที่ 2 และที่3 เองจึงมิใช่เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว.
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2529
               การที่จำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารของโจทก์ร่วม แม้เอกสารดังกล่าวยังสามารถอ่านเข้าใจได้ ก็ถือได้ว่าจำเลยทำให้เสียหาย ทำลายซึ่งเอกสารในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 แล้ว หาจำต้องทำให้เอกสารนั้นสูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับไม่ 
เมื่อจำเลยขีดฆ่าและฉีกเอกสารขาดจากกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จครบถ้วนองค์ความผิดแล้ว หาใช่อยู่ในขั้นเพียงพยายามกระทำความผิดไม่
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528
               ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2528
              โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ศาลอุทธรณ์ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม 
ผู้ใดร่วมกับผู้อื่นเอาเอกสาร (เช็ค) ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และเป็นความผิดตามมาตรา 335 อีกบทหนึ่งด้วย
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2528
               ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏจำเลยที่ 2 ได้ร่วมในการกระทำผิดคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ จึงเป็นคดีซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 1 เอาเช็คขีดคร่อมเฉพาะของโจทก์ไปขึ้นเงินเป็นของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการทำให้เช็คนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีกตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ส่วนที่จำเลยที่ 1เอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์มากรอกรายการสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เองแบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการนี้ยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายหรือเป็นหลักฐานแห่งความหมายอย่างใดเลย จึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1(7) แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้จำเลยที่ 1 จะได้เอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์ไปใช้ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็หาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3658/2526
               การที่จำเลยเขียนกรอกข้อความลงในเช็คผู้ถือซึ่งมิได้ลงวันที่ไว้เป็นวันที่ 5 มีนาคม 2515 ซึ่งย้อนหลังไปจากวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขอแลกเงินจากจำเลยเป็นเวลาถึง 8 ปีเศษ ซึ่งธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะถือเป็นความผิดของผู้ทรงที่ยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค และผู้ทรงเช็คก็หมดสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่าย หากจำเลยสู้ว่าฟ้องพ้นอายุความหนึ่งปีนับแต่วันเช็คถึงกำหนดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(2) และ1002การกระทำของจำเลยย่อมแสดงว่ามีเจตนาที่จะให้เสียหายและไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารเช็คในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2525
               สัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย จำเลยเอาไปดูแล้วไม่ยอมคืนให้ผู้เสียหาย ทั้งกลับปฏิเสธอ้างว่าผู้เสียหายคืนให้จำเลยเพราะจำเลยชำระหนี้แล้ว ดังนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2522
               โจทก์ร่วมเป็นภริยาจำเลยได้ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและขอให้เปิดประตูบ้านที่โจทก์ร่วมอาศัยอยู่ การที่โจทก์ร่วมได้ให้ช่างภาพถ่ายภาพห้อง เครื่องใช้ตู้เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ภายในบ้านนั้น เห็นได้ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจำลองของห้อง เครื่องใช้ ฯลฯ เท่านั้นไม่ได้แสดงความหมายให้ปรากฏแต่อย่างใด ห้อง เครื่องใช้ฯลฯ มีสภาพเป็นอยู่อย่างไร เมื่อถ่ายเป็นภาพออกมาก็ปรากฏอยู่ในสภาพอย่างนั้น ไม่เป็นหลักฐานแห่งความหมายอย่างใด ๆ เลย ภาพถ่ายและฟิล์มของภาพถ่ายดังกล่าวจึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1(7) แห่งประมวลกฎหมายอาญาฉะนั้น การที่ร้านถ่ายภาพได้นำภาพถ่ายไปมอบให้โจทก์ร่วมที่บ้านซึ่งถ่ายภาพ จำเลยเป็นผู้รับไว้ และให้คนไปเอาฟิล์มภาพถ่ายจากร้านแล้วเอาไปเสียไม่ยอมคืนให้โจทก์ร่วมดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2521
               โฉนดและหนังสือมอบอำนาจซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของสามีจำเลยที่ 1 เมื่อสามีตายได้ตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการกรอกข้อความปลอม กับปลอมลายมือชื่อนายอำเภอผู้รับรอง และปลอมรอยดวงตราอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อหนังสือมอบอำนาจ ได้ทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนดฉบับหลวงด้วยแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268,252,267 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักแต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันเอาโฉนดพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหายไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องมีความผิดตามมาตรา 188 อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ยึดถือโฉนดพิพาทไว้ก็เพื่อประสงค์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352
   

=========================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


=========================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view