หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2558
               จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ได้ดำเนินการให้โจทก์ร่วมโอนเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้จัดทำบัญชีเงินเดือนของพนักงานทำการแสวงหาประโยชน์ด้วยการปรับแต่งบัญชีเงินเดือนของพนักงาน เพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองให้มีอัตราสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ร่วมไปเป็นเงินทั้งสิ้น 466,500 บาท และจำเลยยังได้ปรับแต่งข้อมูลอัตราเงินเดือนของ ส. ให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้ ส. ได้รับเงินเกินไปกว่าเงินเดือนที่แท้จริงจำนวน 96,000 บาท แต่เมื่อ ส. นำเงินส่วนที่ได้รับเกินมาดังกล่าวไปคืนให้แก่จำเลย จำเลยก็นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยลักเงินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้กลอุบายปรับแต่งบัญชีเงินเดือนให้โจทก์ร่วมนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและ ส. เกินกว่าเงินเดือนที่มีสิทธิได้รับ แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558
               โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดลักทรัพย์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลย

ที่ 1 กล่าวอ้าง ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีว่าไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องเนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงด้วยการกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง และแม้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกฟ้องในส่วนของโจทก์แล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟังและวินิจฉัยมา ที่ศาลแรงงานกลางให้คู่ความนำพยานเข้าสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของโจทก์ในคดีนี้จึงสามารถกระทำได้ 
โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว
  

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558
               จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์เงินของโจทก์ร่วมไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี 
ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558
               แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ 
การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดัง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้ ส. บรรทุกออกไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2557
               แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข กรณีย่อมถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557
               จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11339/2556

               คำว่า เวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หมายความถึง วันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเครื่องปรับอากาศยี่ห้อมิตซูบิชิ พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง จำนวน 59 ชุด รวมราคา 1,482,119.83 บาท ไปจากคลังสินค้าเอกมัยของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 แสร้งขออนุมัติการขายต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติ ณ บริษัทโจทก์ ด้วยการขอเปิดสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษี 5 ชุด อ้างว่าลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ประสงค์จะซื้อสินค้า 59 ชุด ข้างต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะลูกค้าโจทก์ทั้งห้ารายดังกล่าวไม่ได้สั่งซื้อสินค้าข้างต้นแต่อย่างใด ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 เปิดบิลขออนุมัติขายสินค้าเครื่องปรับอากาศ 59 ชุดข้างต้น เพื่อประสงค์หักล้างสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวน เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ในช่วงเวลาใด 
ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขออนุมัติการขายเครื่องปรับอากาศ 59 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อหักล้างสต็อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวนนั้น ก็เป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นการปกปิดการกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องมีความขัดแย้งกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2556
               ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ว. พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่ ว. พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937 - 4938/2556
               จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18652 - 18653/2555
               จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำใบส่งชุบนอต สกรู และแหวนอีแปะต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมไปยังโรงชุบ ฮ. ของ ณ. และจากนั้นแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า สินค้าบางส่วนจำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ร่วมแล้ว เป็นเหตุให้ ณ. หลงเชื่อนำสินค้าบางส่วนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มารับสินค้าบางส่วนของโจทก์ร่วมไปจาก ณ. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
เอกสารที่จำเลยที่ 1 ลักไปจากโจทก์ร่วมเป็นแบบฟอร์มใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าที่ยังไม่มีข้อความ ไม่เป็นเอกสาร คงเป็นแบบพิมพ์ที่ยังไม่กรอกข้อความ จึงมีสภาพเป็นทรัพย์ธรรมดา ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 
การปลอมใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้าแต่ละฉบับระบุวันเดือนปี และสินค้าแตกต่างจากกันเป็นการกระทำให้เห็นถึงการแยกเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะให้เกิดผลแตกต่างกัน แม้บางฉบับจะระบุทำในวันเดียวกันก็หาทำให้เป็นกรรมเดียวกันแต่อย่างใดไม่ ถ้าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะทำผิดเพียงกรรมเดียวก็สามารถทำเพียงฉบับเดียวได้ จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะแยกการกระทำต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15447/2555
               ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน และผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เงินฝากของโจทก์ร่วมที่ฝากไว้กับธนาคาร ย. สาขาแจ้งวัฒนะ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารนับแต่วันที่มีการฝากเงิน โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ ธนาคารเพียงแต่มีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น และในกรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็ค เงินที่ธนาคารจ่ายไปตามเช็คย่อมเป็นเงินของธนาคารและธนาคารไม่มีสิทธิหักจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ดังนี้ เงินที่จำเลยลักไปจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8545/2555

               เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก) 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้าง และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว 
จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมจากอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไปส่งแก่ลูกค้าที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเดินทางเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2555
               พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ลงบันทึกรายการน้ำหนักชิ้นงานที่ตกแต่งเสร็จแล้วให้สูงกว่าน้ำหนักชิ้นงานที่แท้จริงโดยมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อเอาผงเงินและเศษชิ้นงานของโจทก์ร่วมไป ถือว่าเป็นการร่วมกันวางแผนโดยมีเจตนาลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10787/2554
               จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ดูแลการขายรถยนต์และรับเงินค่าขายรถยนต์จากลูกค้าของโจทก์ร่วม การที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริง ละเว้นไม่รายงานจำนวนรถยนต์ของโจทก์ร่วมที่ขายให้แก่ลูกค้าและไม่รายงานการนำรถยนต์ออกไปจากโกดังตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนทำให้การกระทำความผิดสำเร็จ ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการ แม้ต่อมาภายหลังจะรายงานจำนวนรถยนต์ต่อโจทก์ร่วมตามความเป็นจริง ก็เป็นการรายงานหลังจากที่ตรวจพบถึงการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ไม่อาจทำให้การกระทำของจำเลยกลับกลายไม่เป็นความผิด 
ส. และจำเลยรับมอบเงินค่าขายรถยนต์ของโจทก์ร่วมจากลูกค้า เป็นเพียงการรับเงินไว้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินของโจทก์ร่วมและยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยร่วมกับพวกเอาเงินดังกล่าวของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) วรรคแรก มิใช่เป็นความผิดฐานยักยอก 
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจะแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่ข้อที่เป็นสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12793 - 12794/2553
               เมื่อคนไข้นอกไปพบแพทย์ผู้ตรวจ แพทย์จะออกใบสั่งตรวจและใบสั่งยาให้คนไข้นำไปยื่นที่แผนกการเงินเพื่อชำระเงินค่าตรวจรักษาและค่ายา เงินที่คนไข้นอกจ่ายให้โรงพยาบาลย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาล การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำความผิดในทางอาญาต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 
การที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้แทนผู้เสียหายแล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินของผู้เสียหายในแต่ละวัน เป็นเพียงการยึดถือเงินของผู้เสียหายไว้ชั่วระยะเวลาทำการเท่านั้น ผู้เสียหายหาได้มอบเงินให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และการที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในวันเวลาที่ต่างกัน จำเลยย่อมกระทำไปในแต่ละครั้งโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดคนละเจตนาแยกต่างหากจากกันตามโอกาสที่มีให้กระทำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553
               การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม 
แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปและถูกฟ้องหลายคดี แต่คดีนี้และคดีอื่นมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้ 


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9871/2551
               จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่นำส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้า รับเงินหรือเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าแล้วจะต้องถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้า แล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยรับเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยได้ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วแต่ไม่ได้นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ นั้น ไปส่งแผนกบัญชีของโจทก์ร่วม กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยรับเช็คของลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมนั้นเป็นการรับในฐานะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คดังกล่าวไปให้แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น การที่เช็คจำนวน 10 ฉบับ มาอยู่ที่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยยึดถือเช็คดังกล่าวเพื่อโจทก์ร่วมเท่านั้นเพราะสิทธิครอบครองในเช็คดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551
               โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยโดยใช้แบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ พอแปลความหมายของคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งการแปลความหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการตีความให้ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289/2545
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่โดยการลักทรัพย์ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้ว อันเป็นการยกข้อต่อสู้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง ดังนี้ ศาลแรงงานกลางสามารถฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบแล้ววินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาในข้อเท็จจริงนั้นก่อน แม้ว่าทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นทรัพย์ที่จำเลยอ้างไว้ในคดีแพ่งและคดีอาญา แต่หากจำเลยจะขอให้บังคับทางแพ่งด้วยก็ได้แต่ขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ฐานละเมิดเท่านั้น จำเลยจะขอให้เลิกจ้างโจทก์ด้วยไม่ได้ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องรอหรือถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่อย่างใด
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2545
               การที่มีผู้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปเก็บไว้ที่ท้ายกระโปรงรถยนต์ของผู้เสียหายคันที่ให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายขายของผู้เสียหายนำไปใช้ในการทำงานโดยจำเลยไม่ทราบมาก่อน ผู้เสียหายไม่ได้สละการครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใดเครื่องคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหายและจำเลยควรรู้ว่าผู้เสียหายจะต้องติดตามเอาเครื่องคอมพิวเตอร์คืน การที่จำเลยยอมให้ ณ. นำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการที่จำเลยเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากการครอบครองของผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) ซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป
โจทก์ฟ้องว่า เกิดเหตุระหว่างวันที่ 3 ถึง 15 สิงหาคม 2538 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเหตุเกิดหลังวันที่ 19 สิงหาคม 2538 แต่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงตรงตามที่โจทก์นำสืบ แสดงว่าจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ อีกทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2542
               จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย มีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหายจำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายหาได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11)
 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2541
               ฉ. ได้ขับรถบรรทุกลากจูงรถพ่วงบรรทุกม้วนกระดาษดราฟท์ เพื่อไปส่งให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อไปถึงสถานที่จะขนถ่าย ม้วนกระดาษดราฟท์ ที่บรรทุกมาทั้งหมดลง จำเลยและ ฉ. กลับร่วมกันนำม้วนกระดาษดราฟท์ ที่บรรทุกอยู่ในรถพ่วงไปขายให้ผู้อื่น เมื่อกระดาษดราฟท์ ที่จำเลยกับพวกลักทรัพย์นั้นได้บรรทุกอยู่บนรถพ่วงซึ่งถูกลากจูงโดยรถบรรทุกเพื่อขนส่ง ไปยังสถานที่ขนถ่ายอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยกับ ฉ.ร่วมกันลักกระดาษดราฟท์ โดยใช้รถข้างต้นซึ่งบรรทุก กระดาษดราฟท์มาแต่แรกและฉ.เป็นลูกจ้างผู้มีหน้าที่ขับรถคันดังกล่าวแล้ว ดังนี้ การกระทำของจำเลยกับ ฉ. จึงมิใช่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่ การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป กรณีไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แม้จำเลยกับ ฉ. เคยถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน แต่ ฉ.ให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฉ.กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสาม,336 ทวิส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาคดีนี้ การกระทำของ จำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ศาลก็ลงโทษ จำเลยตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้ หาใช่ว่าเป็นเหตุ ในลักษณะคดีที่จำเลยต้องรับโทษเช่นเดียวกับ ฉ. ไม่
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2541
               เลื่อยฉลุไฟฟ้าและเครื่องหินเจียไฟฟ้าที่จำเลยนำไปจำนำ เป็นของโจทก์ร่วม และขณะนำไปจำนำจำเลยยังเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำเลื่อยฉลุไฟฟ้าและเครื่องหินเจียไฟฟ้าของ โจทก์ร่วมไปจำนำแล้วนำเงินที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น ถ้าจำเลยไม่ไถ่คืนภายในเวลาที่กำหนดผู้รับจำนำมีสิทธิ นำไปขายทอดตลาดได้ และทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตโดยแสวงหา ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จึงเป็น ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก
 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2540
               แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นคดีแรกทั้งผู้เสียหายได้รับของกลางคืนหมดแล้วไม่ติดใจเอาความกับจำเลย แต่แผ่นเหล็กจำนวน6,500 แผ่น ราคา 75,000 บาท ของนายจ้างจำเลยเป็นทรัพย์จำนวนมาก การลักทรัพย์ต้องใช้รถยนต์บรรทุกขน ต้องร่วมกระทำความผิดมากกว่า 1 คน พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง แม้จำเลยจะมีภาระต้องดูแลครอบครัวตามที่จำเลยอ้าง ก็ไม่ใช่เหตุปรานีที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2540
               โจทก์ร่วมเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝากหรือจากการเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา672ว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนดังนั้นเงินที่ฝากไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นเงินของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของส. ในใบคำขอใช้บริการบัตรเอ.ที.เอ็ม.แล้วนำมายื่นต่อโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมออกบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ส่งมาให้ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท. แล้วจำเลยลักบัตรนั้นรวมทั้งซองบรรจุรหัสเพื่อใช้กับบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม. ในชื่อของส.ไปต่อจากนั้นจำเลยจึงได้นำบัตรกรุงศรีเอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าวไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่เป็นนายจ้างของจำเลยจากเครื่องฝาก-อัตโนมัติครั้งละ10,000บาทรวม16ครั้งการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264วรรคแรก,268วรรคแรก,335(11)วรรคสอง
 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2539
               ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335 (11) วรรคแรก นั้นขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ลักว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่ หาได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้นไม่ ดังนั้นแม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่จำเลยลักไปรวมทั้งทรัพย์สินใดๆ ในคลังสินค้าของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ นั้น จะต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ ส่วนยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายมีหน้าที่ขับรถลักเอาน้ำมันพืช 24 ขวด และปลากระป๋อง 100 กระป๋อง จากคลังสินค้าของผู้เสียหายไปแล้วนำไปวางไว้บนรถยนต์กระบะของผู้เสียหายขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาใช้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปกรณีหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายขณะที่บรรทุกอยู่บนรถซึ่งจำเลยมีหน้าที่ขับรถบรรทุกขนส่งแต่อย่างใดไม่ การ

กระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา336ทวิ
 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2535
               แม้จำเลยเป็นผู้เขียนใบเบิกสินค้าทั้ง 5 รายการ และเบิกสินค้าโดยไม่มีใบสั่งซื้อ 2 รายการ โดยทุจริตเพื่อลักทรัพย์อันเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วก็ตาม แต่เมื่อสินค้านั้นยังคงอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นเพียงการลงมือกระทำผิดฐานลักทรัพย์แล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเท่านั้น อันเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2535
               การที่จำเลยได้ลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. 1 ใบราคา 30 บาท ของธนาคารกสิกรไทย แล้วจำเลยได้นำบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ลักมานั้นไปเข้าเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ กดเบิกเงินเอาไปจำนวน 5,000 บาทแล้วได้นำบัตร เอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวโยนทิ้งน้ำไปนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักไปจากธนาคารกสิกรไทยเป็นคนละประเภทกัน แม้จำเลยจะมีความประสงค์เพื่อเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ลักมาไปกดเบิกเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน แยกกระทงลงโทษจำเลยได้ การกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2535
               จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นสูบถ่ายน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษจากรถยนต์บรรทุกน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ที่จำเลยที่ 1เป็นคนขับ อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะบรรทุกน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัดก. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานสูบถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา3,4,8 ประกอบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 ข้อ 15(1)อีกบทหนึ่งด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ทำการสูบถ่ายน้ำมันดังกล่าวชี้ชัดว่าเป็นความต้องการเดียวกันกับเอาน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ไป และโดยลักษณะของการกระทำ คือ การสูบถ่ายน้ำมันไปดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการเอาน้ำมันไปด้วยในตัวจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน หาได้มีเจตนาให้มีผลแยกต่างหากจากกันไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยไว้หนักไปศาลฎีกามีอำนาจกำหนดโทษให้เบาลงได้ และเป็นเหตุในลักษณะคดีให้มีผลตลอดถึงจำเลยอื่นซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141/2530
               จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเอาบุหรี่ของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ที่ชั้นเก็บของบนชั้นที่ 2 ของร้าน บรรจุลงไว้ในกล่องกระดาษสำหรับบรรจุข้าวเกรียบกุ้งปิดฝากล่องใช้กระดาษกาวปิดทับแล้วนำไปวางไว้บนชั้นที่ 3 เพื่อเตรียมขนย้ายไปจากร้านผู้เสียหาย เป็นการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้เสียหายแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2530)
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2524
               จำเลยนำกบไฟฟ้าของผู้เสียหายจากตึกชั้นสองขึ้นไปเก็บบนตึกหลังเดียวกันชั้นสามซึ่งเป็นที่อาศัยนอนของจำเลยเป็นการเคลื่อนย้ายจากที่ตั้งปกติและแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นไปจากผู้เสียหายแล้ว อยู่ในสภาพพร้อมที่จะนำไปให้พ้นจากตึกของผู้เสียหายเมื่อมีโอกาส การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226 - 227/2521
               ความตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยลงลายมือชื่อบุคคลอื่นเบิกเงินจากธนาคารและสลักหลังแคชเชียร์เช็คเป็นการหลอกลวงธนาคาร ทำให้ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่ออันแท้จริงของบุคคลนั้น จำเลยกระทำการทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากธนาคาร และจำเลยได้เงินจากธนาคารไปโดยธนาคารสั่งจ่ายเงินให้จำเลยเองดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้องไม่แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้
สำนวนแรกการที่จำเลยปลอมลายมือชื่อ ย. ลงในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคาร จนธนาคารสั่งจ่ายเงินแล้ว จำเลยก็ยังรับเงินจำนวนนั้นไปไม่ได้เพราะจำเลยไม่ใช่ ย. จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของ ย. แล้วจำเลยก็ปลอมลายมือชื่อของ ย. สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ
สำนวนหลังจำเลยปลอมลายพิมพ์นิ้วมือ ร. ในใบถอนเงินนำไปใช้แสดงต่อธนาคาร จนธนาคารสั่งจ่ายเงินและจำเลยนำเข้าบัญชีของ ฮ. ให้ ฮ. สั่งจ่ายเงินสดจำนวนนี้ จำเลยได้เงินจำนวนนี้ไปเป็นความผิดสำเร็จขาดตอนไปแล้ว เมื่อจำเลยนำเงินจำนวนนี้รวมกับเช็คที่ ท. สั่งจ่ายเงินสดไปแลกเป็นแคชเชียร์เช็คจ่ายตามคำสั่งของ ท. แล้วจำเลยปลอมลายมือชื่อ ท. สลักหลังลอยในแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของ จำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จอีกตอนหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2519
               กล้องถ่ายภาพยนตร์เป็นของกรมแรงงาน อยู่ในความรับผิดชอบดูแลรักษาของ ส. จำเลยเป็นลูกจ้างประจำ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ช่างภาพ ส. ได้มอบกุญแจตู้เหล็กเก็บกล้องถ่ายภาพยนตร์ให้จำเลยเก็บรักษา บางครั้ง ส. กับจำเลยไปถ่ายภาพในกิจการของกรมแรงงาน บางครั้งจำเลยไปคนเดียว นำกล้องถ่ายภาพยนตร์ไปได้โดยไม่ต้องรายงาน ส. แต่เสร็จราชการแล้วต้องนำไปเก็บไว้ที่เดิม ถ้าเสร็จงานเมื่อหมดเวลาราชการ จำเลยนำไปไว้ที่บ้านได้ วันเปิดทำงานก็นำเอาไปเก็บที่เดิมเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่า ส. ได้มอบการครอบครองกล้องถ่ายภาพยนตร์ให้แก่จำเลย จำเลยเอากล้องถ่ายภาพยนตร์ไปโดยเจตนาทุจริต ย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2519

               แม้จำเลยพักนอนบนเรือนของผู้เสียหายระหว่างรับจ้างขุดมันสำปะหลังให้แก่ผู้เสียหาย แต่ค่าจ้างคิดตามน้ำหนักมันที่ขุดได้ จะขุดมันได้มากน้อยเท่าใดแล้วแต่ความสมัครใจ และความสามารถของจำเลย ผู้เสียหายหาได้กำหนดกฎเกณฑ์สั่งการและคุมให้จำเลยขุดให้ได้จำนวนมันแน่นอนแต่อย่างใดไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยไม่ใช่อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน เมื่อจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จึงเอาผิดจำเลยฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ไม่ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2486
               การไช้ปืนยิงไนหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควน หาเปนความผิดไนตัวเองดังที่บัญญัติไว้ไนมาตรา 28 ไม่ และไม่มีกดหมายบัญญัติไว้ว่าการไช้ปืนเช่นนี้เปนความผิดอันพึงจะริบ 
บทบัญญัติแห่งมาตรา 27 กดหมายอาญาเปนเรื่องไห้สาลมีอำนาดไช้ดุลยพินิจ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2481
               จำเลยใช้ปืนยิงสุนัขซึ่งจำเลยรู้ว่ามีเจ้าของเพราะสุนัขเข้าไปทำความรำคาญในบ้านของจำเลยดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยยิงปืนในบ้านของจำเลยซึ่งตามถิ่นแถวนั้นมีคนมายิงนกบ่อย ๆ ทั้งบ้านก็มีระยะห่าง ๆ กันมีที่ว่างมากจำเลยไม่มีผิดฐานยิงปืนในหมู่บ้านตาม ม.335 (11)

==================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


==================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view