หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา กรณีแชร์ลูกโซ่


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2562
               พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2562
               โจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงตกอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ซึ่งมาตรา 46 กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้... (3) ค่าบริการที่อาจเรียกได้ ทั้งมาตรา 46 วรรคสอง ยังบัญญัติว่า... ค่าบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 46 (3) มิให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ อันแสดงให้เห็นว่า นอกจากดอกเบี้ยแล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยังมีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับสำหรับธนาคารพาณิชย์ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งตามสัญญาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ข้อ 7.2 ระบุว่า ผู้ให้สัญญาตกลงชำระค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท ให้แก่ธนาคาร เมื่อจำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 3,973,572.53 บาท และต้องการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์และจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,152 บาท อันเป็นการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในการดำเนินการนอกเหนือจากสัญญาสินเชื่อเดิมซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรหรือประโยชน์นอกจากดอกเบี้ยมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ค) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (3)
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561
               โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อ

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย 
สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง    



                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560
               การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)    



                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560
    โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด    



                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8730/2558
               ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหน้านั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของจำเลยเสมอไปไม่ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วหากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยได้ 
คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน และหนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบทั้งสามประเภทหนี้รวมกันเป็นคดีเดียวกัน โดยเสียเงินค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 29 นั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าโจทก์ฟ้องในมูลหนี้แต่ละประเภทรวมกันมาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 หรือขอให้ศาลมีคำสั่งขอให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาได้ โดยไม่จำต้องต่อสู้มาในคำร้องขอแก้ไขคำให้การ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ 
คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะ ยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะนั้น แม้การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การไว้แล้วว่ายอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องตามสัญญาทั้งสามประเภทเคลือบคลุมและไม่ถูกต้อง กับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในกรณีผิดนัดสูงเกินส่วน ทั้งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องนำสืบถึงการคิดยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถนำสืบหักล้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียงใดได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ 
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การที่ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฟ้องคดีของโจทก์ซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในข้อนี้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 และไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เคยมีการฟ้องคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้วอย่างไรที่จะทำให้คดีนี้กลายเป็นฟ้องซ้อนจึงไม่ใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย 
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยอ้างว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียงและเสียหายในการค้า มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องแย้งในเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำละเมิด จึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิม    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16376/2557
               ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็ม แอล อาร์) ร้อยละ 11.5 ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ร้อยละ 13.25 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์พึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับภายในกำหนด กำหนดระยะเวลาที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือยังไม่อาจเริ่มนับ จึงให้ถือเอาวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นวันที่เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 
ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15866/2557
               ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กันยายน 2551 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดสำเร็จ จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2557
               ส. และ ว. ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของ ส. และ ว. คือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อ ส. และ ว. ยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัท จ. ย่อมถือว่า ส. และ ว. เปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. และ ว. ต่างนำสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่า ส. และ ว. จะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเพียงใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูง ส. และ ว. ทำสัญญาเช่าซื้อสร้อยคอทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้ ส. และ ว. ได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำรูปพรรณให้ ส. และ ว. เพื่อนำไปขายอีก พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556
               ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) 

   
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2556
               เมื่อ บ. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,500 บาท แล้ว ในวันเดียวกัน บ. นำสร้อยคอทองคำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 11,437 บาท ส่วน ส. ทำสัญญาเช่าซื้อทองคำในราคา 16,603 บาท แล้วนำไปขายที่ร้าน ว. ได้เงิน 10,000 บาท การที่ บ. และ ส. ขายทองคำที่ได้รับมาไปในทันที โดย บ. และ ส. ต้องผ่อนชำระวันละ 95 บาท เป็นเวลา 174 วัน และ 175 วัน ตามลำดับ เชื่อได้ว่า บ. และ ส. ต้องการเงินจากบริษัท จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาเช่าซื้อทองคำไว้เป็นของตน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินมิใช่การเช่าซื้อ แม้มีการทำสัญญาเช่าซื้อก็เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่แท้จริง โดยการกู้ยืมเงินดังกล่าวคิดผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 80 ต่อปี เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555
               ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663 - 15664/2555
               พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12070/2555
               โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายต่างวันเวลากัน รวม 35 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายแยกต่างหากจากกันในแต่ละวันที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554
               โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ 
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553
               การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้ 
การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553
               ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์ 
แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552
               หนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท จึงเป็นการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ มิใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด 
สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552
               โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน

อัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้ 
ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4738/2552
               จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 16,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือน และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนสัญญากู้ยืมเงินว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท แต่จำเลยต่อสู้และนำสืบหักล้างฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียงจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เท่านั้นหาใช่ทำให้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอาศัยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมที่แท้จริงจำนวน 20,000 บาท ได้ จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวม 2 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักไว้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินมาหักชำระหนี้ต้นเงินได้ เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 สำหรับข้อตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยกันในอัตราดังกล่าวแต่ตกลงให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีนี้สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2551
               จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 350,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยโจทก์ต่อมาสามีจำเลยได้ทำสัญญาขายบ้านพิพาทให้โจทก์ในราคา 590,000 บาท โดยมีการโอนหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์จำนวน 590,000 บาท แทนการชำระราคาบ้าน เมื่อพิจารณาดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์แล้วนำมารวมกับต้นเงินกู้เป็นเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านพิพาทนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทจึงเกิดจากหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ราคาบ้านพิพาทที่กำหนดในสัญญาจะรวมเอาต้นเงินกู้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์และสามีจำเลยมิได้มีเจตนาจะแบ่งแยกซื้อขายบ้านบางส่วนในราคาต้นเงิน 350,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระอยู่ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับสามีจำเลยย่อมเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทไม่ได้    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2551
               ธนาคาร ก. ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมที่ธนาคาร ก. ทำกับจำเลยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศธนาคาร ก. เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินรายจำเลยมาและคิดดอกเบี้ยตามประกาศทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ธนาคาร ก. มีสิทธิเรียกจากลูกค้าได้ในขณะทำสัญญานั้นจึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะแม้ตามความเป็นจริงธนาคาร ก. จะคิดดอกเบี้ยภายในกรอบของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคาร ก. ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 
เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกค้าของธนาคาร ก. ที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินแล้วธนาคาร ก. นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารคิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยอันตกเป็นโมฆะตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะไปหักชำระหนี้ต้นเงินจึงชอบแล้ว    
    
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551
               ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง 
ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะ
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551
               ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ 
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ 

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2551
               โจทก์เป็นเอกชนมิใช่สถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามกฎหมายกำหนดให้คิดสูงสุดเพียงร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 และ ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะ ความข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่มุ่งรักษาความยุติธรรมมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไป และผลของการเป็นโมฆะตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คู่ความย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม และขณะที่จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมีความผูกพันที่จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อยู่ เพราะตามสัญญากู้ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยมาทราบภายหลังว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้นต้องคืนให้จำเลยทั้งสอง หรือไม่ก็นำไปชำระเงินต้นที่ยังค้างอยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบได้ว่าได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 17,000,000 บาท สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เพียง 13,000,000 บาทเศษ จึงถือว่าได้จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้โจทก์ครบแล้ว    
    
                   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
               บริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ในข้อ (4) คือ การรับ ออก โอนและสลักหลังตั๋วเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น และตามข้อ (35) ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น การที่จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง จึงเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของจำเลย 
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่เป็นโมฆะ 
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ 
บริษัท ป. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระเงิน ต่อมาบริษัท ป. ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติไว้ โจกท์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้ 
ในคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยในบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ระบุในช่องหมายเหตุว่า ลูกหนี้มิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้เมื่อครบกำหนด แต่ได้มีการตกลงทางวาจาว่า อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นจำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2550
               แม้ตามสัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่ธนาคาร ก. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และยอมให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรแต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ และตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจะระบุว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไว้เช่นกันก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศเรียกเก็บได้ เมื่อประกาศธนาคาร ก. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองระหว่างธนาคารกับจำเลย กำหนดให้ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปทุกประเภทและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี การที่ธนาคารกำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยในสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีลูกค้าผิดเงื่อนในการผ่อนชำระ โดยจำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกเก็บจากลูกค้านับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของธนาคาร ก. ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ 
แม้ความเป็นจริงธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังทำสัญญาในบางช่วงไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อโจทก์รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี 
เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิจากธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระมาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด เห็นว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนตุลาคม 2541 หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนพฤศจิกายน 2541 ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนพฤศจิกายน 2541 ไปแล้ว คือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008 - 5010/2549
               โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี เกินกว่าอัตราตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับตามฟ้องแยกเป็นการชำระเงินต้นเท่าใด ชำระดอกเบี้ยเท่าใด จึงถือว่าเช็คตามฟ้องที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์ได้รวมดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ด้วย แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4      


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3375/2549
               หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่เขียนไว้นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ 
หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สอง ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปที่เว้นช่องว่างไว้สำหรับกรอกกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยนั้นกลับมีข้อความเขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ข้อความทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงขัดแย้งกันและเป็นที่สงสัย โจทก์ย่อมมีสิทธินำพยานประกอบการแปลความหมายตามเจตนาแท้จริงของการทำข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยได้ เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เมื่อข้อความที่ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ยังปรากฏอยู่โดยมิได้ขีดฆ่าหรือกระทำโดยประการอื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาจะให้มีผลบังคับ ส่วนข้อความที่เขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ปรากฏอยู่ในข้อความที่เกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ย ทั้งไม่มีข้อความอื่นใดที่แสดงว่าผู้ให้กู้ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากผู้กู้ตลอดไป เมื่อพิจารณาสัญญา ข้อ 3 ที่กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ประกอบด้วยแล้ว มีเหตุผลรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเอาดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนดเท่านั้น แต่หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงจะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540   
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2549
               สัญญากู้ยืมเงินส่วนที่เกิน 350,000 บาท เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วนำมารวมเข้าเป็นต้นเงินกู้ที่ทำขึ้นใหม่เป็นดอกเบี้ยต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ส่วนของต้นเงินที่มาจากดอกเบี้ยที่ไม่ชอบทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้ส่วนของต้นเงินที่ชอบจำนวน 350,000 บาท เสียไปด้วย เพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ชอบคือต้นเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับก่อน ทั้งที่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2549
               โจทก์เพิ่งจะยื่นสำเนาคำสั่งของโจทก์ เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อ ที่มีผลใช้บังคับในวันทำสัญญากู้มาท้ายอุทธรณ์ เพื่อแสดงว่าโจทก์ได้ออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปแล้ว โดยโจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ทั้งที่เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองและรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์เพิ่งจะนำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ 
การที่ศาลจะพิจารณาและพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่าฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลในข้อ 1 ระบุว่า จำเลยทั้งสามตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 631,778.32 บาท แก่โจทก์ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับจำนวนเงินที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชำระให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินที่คิดคำนวณจากดอกเบี้ยที่เกินอัตรารวมอยู่ด้วย ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินอัตรานี้เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงไม่อาจพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่โจทก์ยื่นคำแถลงได้    
    


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2549
               การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมายศาลฎีกาก็ย่อมไม่อาจพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 138 เมื่อปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลในข้อ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,150,253.55 บาท แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 5 ตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 558,543.32 บาท แก่โจทก์ เมื่อรวมจำนวนเงินทั้งสองจำนวนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,708,796.87 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากดอกเบี้ยเกินอัตราอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) รวมอยู่ด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามยอมให้ได้    
  

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4914 - 4915/2548
               เช็คทั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายชำระค่าผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยจากการที่จำเลยที่ 1 นำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มีความผิดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การออกเช็คทั้งสองฉบับของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2548
               ประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าเบิกเงินเกินวงเงินหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกค้าทั่วไปกรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีเบิกเงินเกินวงเงินหรือผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าได้นับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดแล้วไม่โต้แย้งความถูกต้องและดอกเบี้ยที่คิดภายหลังทำสัญญาในบางช่วงเวลารวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอมาท้ายฟ้องไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจบังคับได้ตามขอ 
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกัน การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ ดังนั้น หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกัน   


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2547
               ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 30 และ 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 29, 30, 48, 50, 89 และ 272 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย มิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลยเพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 31 บัญญัติไว้ การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 30 และ 31 มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว 
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และจำเลยได้รับการรับรองคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 และ 219 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 
การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ และ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุให้ จ. มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้เท่านั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบ ทั้งยังฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า จ. มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่ 
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 แล้วว่า พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของ สถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2475 ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับได้ในคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคท้าย อีกทั้ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อพ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 
ป.พ.พ. มาตรา 733 เป็นเพียงบทสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณี หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะ และหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไป หรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้รับจำนองและผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ย่อมกระทำได้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะไม่    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2547
               พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ในการจดทะเบียนจำนองตามสัญญาจำนองโจทก์ได้ให้เงินจำนวน 920,000 บาท แก่จำเลย สัญญาจำนองจึงเป็นเพียงการทำประกันจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามสัญญาจำนองครั้งแรกซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) ข้อกำหนดเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยหาต้องรับผิดตามสัญญาจำนองต่อโจทก์ไม่    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546
               โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อโจทก์จึงมีคำสั่งและประกาศอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยชั้นดีโดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยชั้นดีในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราตามคำสั่งและประกาศของโจทก์เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงตกเป็นโมฆะ แม้ตามความจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ เมื่อข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วเท่ากับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีกแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2546
               เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองร่วมกันออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้อันเกิดแต่การที่จำเลยทั้งสองขายลดเช็คทั้งยี่สิบเจ็ดฉบับให้แก่โจทก์ แล้วเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้จะปรากฏว่าเช็คทั้งยี่สิบเจ็ดฉบับนั้นโจทก์ได้คิดส่วนลดหรือดอกเบี้ยล่วงหน้าคิดเป็นอัตราร้อยละ 21.9 ต่อปี ก็ตาม กรณีก็มิได้มีกฎหมายห้ามไว้เหมือนเช่นการให้กู้ยืมเงิน จึงถือไม่ได้ว่าเช็คตามฟ้องมีดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คตามฟ้องของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น โดยในวันที่เช็คถึงกำหนด เงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 มีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิด
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2546
               โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ 2 ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี มิใช่อัตราร้อยละ 16.5ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นโดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้เพียงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43052 และ 43053 ออกขายทอดตลาด เป็นให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43051และ 43052 ออกขายทอดตลาด แต่ขณะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143วรรคหนึ่ง มิใช่อำนาจของศาลชั้นต้น    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2545
               จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งในกรณีที่ไม่ผิดนัดและผิดนัดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินไม่ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ และแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ที่ออกมาใช้บังคับในช่วงของการทำสัญญากู้ยืมเงินนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขมิใช่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไป การที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5669/2545
               ผู้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการลูกจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่าลูกจ้างต้องไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่แสวงหาประโยชน์จากการกู้ยืมภายในบริเวณที่ทำการหรือโรงงานหรือหอพักที่นายจ้างจัดให้ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงโดยผู้คัดค้านให้ลูกจ้างของผู้ร้องกู้ยืมเงิน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ให้กู้ยืมเงินคือ บ. ไม่ใช่ผู้คัดค้านเหตุที่ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะ ม. ไปพบผู้คัดค้านแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงิน ผู้คัดค้านจึงรับไปติดต่อกับ บ. ลูกพี่ลูกน้องกับผู้คัดค้านซึ่งมีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้อันเป็นการช่วยเหลือ ม. หลังจากที่ผู้คัดค้านติดต่อแล้ว บ. ยอมให้กู้ยืมโดยมอบเงินให้ผู้คัดค้านนำไปมอบให้ ม. การที่ผู้คัดค้านรับมอบเงินกู้จาก บ. นำไปให้ม. จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเพื่อช่วย ม. ให้ได้รับเงินกู้จาก บ. เช่นเดียวกัน แม้ บ. จะคิดดอกเบี้ยจาก ม. ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ และไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับผลประโยชน์ใดจากการกู้ยืมระหว่างม. กับ บ. การกระทำของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2545
               ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
สัญญากู้ยืมระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารโจทก์ แต่ตามประกาศกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์ในขณะทำสัญญากู้ยืมกำหนดอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาร้อยละ14.50 ต่อปี ไม่มีข้อความตอนใดในประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้ยืมจึงสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิจะเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย และขัดต่อ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯมาตรา 3(ก) ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมจึงตกเป็นโมฆะ    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2545
               โจทก์นำเงินดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯมาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาทที่กู้ยืม แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยก การกู้เงินออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือกู้เงินจำนวน 300,000 บาท อีกส่วนหนึ่งคือ 60,000บาท เฉพาะนิติกรรมการกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาทเท่านั้น ที่ตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนจำนวน 300,000 บาท ยังคงสมบูรณ์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยในเงินส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน 360,000 บาทสัญญาจำนองประกันหนี้ จึงมีผลใช้บังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์ คือ จำนวน 300,000 บาท เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองในหนี้ส่วนนี้ได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2545
               สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาทโดยมิได้ระบุให้ใช้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ระบุว่า "วันนี้ 1 อัตราดอลลาร์อเมริกันเท่ากับ 24.29 บาทในกรณีที่เงินดอลลาร์อเมริกันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นผู้กู้ยอมชำระอัตราเพิ่มขึ้นด้วย" นั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ผู้กู้ชำระเงินเพิ่มในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น หาใช่เป็นการแสดงว่าเป็นการกู้เงินหรือต้องใช้เงินกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ จำเลยต้องชำระหนี้ตามจำนวนในสัญญาให้โจทก์เป็นเงินไทย ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็มิใช่เป็นเบี้ยปรับหรือการกำหนดค่าเสียหาย แต่เป็นการกำหนดให้ผู้กู้ต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ผู้กู้จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้กู้อันเป็นการให้ค่าตอบแทนเพิ่มจากดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน กรณีจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะมิอาจบังคับได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2545
               จำเลยกู้เงินจากผู้เสียหายเพียง 50,000 บาท แต่ในสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยกู้ไป 60,000 บาท แสดงว่าเงิน 10,000 บาท ที่เกินมาคือดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดจากจำเลย ปรากฏว่าในสัญญากำหนดเวลาใช้เงินกู้คืนภายใน 1 เดือน จึงเท่ากับเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราตามกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายเรียกเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตรา แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
แม้ผู้เสียหายที่เป็นผู้กระทำผิดจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545
               โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกู้ยืมเงินกับโจทก์ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และ 411 จำเลยจะเรียกดอกเบี้ยคืนหรือนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินหาได้ไม่    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2545
               โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สิน การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จึงอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ และธุรกิจดังกล่าวของโจทก์มิใช่ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแยกประเภทไว้ ดังบทนิยาม "ธุรกิจเงินทุน" ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อนุญาตให้บริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดได้ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการแปรสภาพก็หมดสภาพจากการเป็นบริษัทจำกัดตามมาตรา 184 แต่มาตรา 185 ยังคงรับรองถึงความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทจำกัดที่หมดสภาพด้วยการแปรสภาพใหม่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่แปรสภาพมานั้นย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สินหนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทจำกัด การที่บริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. ลงนามในสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินแทนได้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดสิทธิหรือความรับผิดอันโอนไปยังโจทก์ซึ่งแปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ช. จึงยังคงมีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องอ้างมูลหนี้อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1ทำกับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน มิใช่เรียกร้องมูลหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมเงิน เมื่อสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด และโจทก์เรียกดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475    
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9571/2544
               สิทธิการบอกเลิกสัญญาและวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามมาตรา 573 และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 574 ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ตามมาตรา 560 มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการเลิกสัญญาเช่าซื้อแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ใช้วิธีแสดงเจตนามีหนังสือทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ก่อน หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญาจึงบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 ได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายใน 3 วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ระยะเวลา 3 วันที่โจทก์กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่จำนวน 29,810 บาทนั้น นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 387 แล้ว เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้มาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี รวมไว้ในสัญญาเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองได้ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ได้โดยวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ เป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยเฉพาะแต่การกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อได้

==================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view