หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

คำพิพากษาศาลฎีกา กรณีแชร์ลูกโซ่


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317 - 7318/2555
               พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ในพระราชกำหนดนี้ "ผู้กู้ยืมเงิน" หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย" แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. และบริษัท ซ. แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสอง และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ และเป็นผู้กู้ยืมเงินในความหมายของการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 แล้ว
               การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัท ป. และบริษัท ซ. โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปในอัตราดังกล่าวได้ จนจำเลยทั้งสองกับพวกได้เงินไป จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่นำมาปรับใช้แก่คดี
               การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม) แล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 5 อีก

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4562/2555
               คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวนและโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดี ดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2537
               การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคนและบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวและการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกและการกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกฤษฎีกา การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่าในการกู้ยืมเงินจำเลยหรือบริษัทอ. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ โดยจำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. จะนำเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือโดยที่จำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. ไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาได้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกหรือบริษัท อ.ได้กู้ยืมเงินไป จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4,12 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีกบทหนึ่ง


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2536
               การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยจำเลยที่ 4ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน

1 เปอร์เซ็นต์ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุน เป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6กู้ยืมเงินตามพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 แล้ว แม้พระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯมาตรา 3 จะบัญญัติว่า ผู้กู้ยืมเงินหมายความว่าบุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถือได้ว่าจำเลยที่ 4และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ แม้จำเลยที่ 4 จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ และเป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเอง แม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ในข้อหาฉ้อโกงและความผิดต่อพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯแต่พนักงานอัยการโจทก์ยังอุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมณ์ ของพระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 10 นั้น แม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลาย พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ล้มละลายได้
   

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2534
               การที่จำเลยขายหุ้นหรือทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินให้บุคคลทั่วไป โดยตกลงทยอยซื้อคืนเป็นงวดรายเดือนและให้กำไรเป็นเงินสองเท่า เป็นการซื้อหรือทำสัญญาที่มุ่งจะขายคืนเพื่อต้องการกำไรเป็นสองเท่าโดยไม่ต้องร่วมในการขาดทุน หาใช่เป็นการซื้อหุ้นเพื่อร่วมลงทุนในกิจการด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำในรูปของเงินปันผล ซึ่งจะต้องร่วมในการขาดทุนด้วย ดังบริษัททั่วไป หรือทำสัญญาเพื่อมุ่งจะได้บ้านและที่ดินจากจำเลยไม่ ดังนั้นการขายหุ้นและทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของจำเลยก็คือการรับเงินโดยผู้กู้ยืมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมอันเป็นการกู้ยืมเงินตามความหมายใน พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พนักงานอัยการโจทก์ดำเนินคดีเองโดยมิได้แต่งตั้งทนายความศาลย่อมไม่กำหนดค่าทนายความให้.

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561
               การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2557
               แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวน ป. ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยแบ่งงานกันทำกับพวกจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง
               อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่ผู้เสียหายที่ 5 ด้วยนั้นชอบแล้ว เพราะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิด จำเลยต้องชดใช้ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงินแก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557
               การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่
               ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4562/2555
               คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวนและโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดี ดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2553
               พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551
               พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืนเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคน คนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2547
               ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชนชนฯ มาตรา 10 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 4 หรือ 5 ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ เป็นการให้อำนาจฟ้องได้ในขณะที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดเท่านั้น ไม่ต้องรอให้ฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาลก่อนและไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดก่อนว่าผู้กู้ยืมกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ได้ เพราะความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องการให้กฎหมายมีสภาพบังคับโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ร้ายแรงมากขึ้นจากความเนิ่นช้าในการบังคับใช้กฎหมายรัฐจึงเลือกใช้ช่องทางให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าว เพราะกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นจะต้องดำเนินการเป็นการด่วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 13 และในมาตรา 10 วรรคสองของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติต่อไปว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงตามวรรคหนึ่งให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด มิใช่ต้องได้ความจริงว่าลูกหนี้กระทำผิดตามคำพิพากษาถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจเข้าจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบต่อมาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ จนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบล้มละลายและเข้าสู่ขั้นตอนการจำหน่ายทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123 แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายจนสิ้นสุด ไม่อาจขอทุเลาการบังคับอย่างคดีแพ่งธรรมดาและไม่อาจขอให้งดหรือระงับการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและอายัดไว้ได้


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547
               พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า "กู้ยืมเงิน" และ "ผลประโยชน์ตอบแทน" ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
               แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91
จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547
               จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ด้วย


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2541
               แม้ลูกหนี้ที่ 4 จะมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม ที่เจ้าหนี้อ้างประกอบคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 เป็นจำเลยร่วมอยู่ด้วยว่า ลูกหนี้ที่ 4 เป็น กรรมการของบริษัทฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด กับจำเลยที่ 1 ตาม พระราชกฤษฎีกาการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และ 5 ดังนั้น ลูกหนี้ที่ 4 จึงเป็นผู้กู้ยืมตามนัยแห่ง พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวและต้องรับผิดตาม สัญญากู้ยืมต่อเจ้าหนี้ จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ได้ ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมหาได้ไม่
                   
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2539
               บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงาน โดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเอง หรือเพื่อบริษัทอันเป็นการกระทำโดยทุจริตโดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงานด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงาน แต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมาเป็นการปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแกประชาชนและในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัคร การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 341, 343 วรรคแรก
               การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ 30 หุ้น เป็นเงิน 3,000 บาท มีลักษณเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายโดยให้เงินปันผลหรือเงินค่าครองชีพเดือนละ 135 บาท จึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบ หรือจ่ายหรือตกลงจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดดังกล่าว และในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 135 บาท หรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ 54 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายให้จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว จึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5
               ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผลคือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้กระทำในนามบริษัท โดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อและมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อให้มาทำงาน เพราะความจริงแล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ต่อผลตาม ป.อ. มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
               ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษโดยรวมโทษทุกกระทงแล้วปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ทั้งที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดคือความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 20 ปี นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) รวมจำคุกคนละ 50 ปี แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งห้า ควรแก้ไขให้ถูกต้องได้เฉพาะปรับบทให้ถูกต้องเท่านั้น


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2537
การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคนและบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวและการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกและการกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกฤษฎีกา การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่าในการกู้ยืมเงินจำเลยหรือบริษัทอ. จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ โดยจำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. จะนำเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบคน หรือโดยที่จำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัท อ. ไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาได้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกหรือบริษัท อ.ได้กู้ยืมเงินไป จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4,12 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีกบทหนึ่ง

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2534
               เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นผู้กู้ยืมเงิน และได้ตกเป็นผู้ต้องหาตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 4,5 ทั้งได้ถูกฟ้องต่อศาลอาญาไว้แล้วพนักงานอัยการย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 10 ส่วนจำเลยที่ 6 เมื่อมิได้เป็นผู้กู้ยืมเงิน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 10


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6719 - 6720/2550
               ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลใดก็ตาม ที่กระทำการตามองค์ประกอบความผิดในมาตรานี้เป็นผู้กระทำความผิด ไม่ได้กำหนดเป็นการเฉพาะแต่เพียงว่าผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อจำเลยกับพวกในฐานะตัวแทนของบริษัท ท. ได้กระทำการในการจะกู้ยืมเงินด้วยการโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป และจำเลยกับพวกจ่ายหรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าวว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้บริษัท ท. กู้ยืมเงินในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ และจำเลยกับพวกไม่ได้พิสูจน์ว่ามีข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยกับพวกจึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2551
               ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดไว้ชั่งคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม

ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556
               ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9555/2554
               พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา โดยได้บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ รวมถึงการปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าว ดังนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง


                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545
               คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
               จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989
               การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้นมีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงินตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดังเช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีที่กำหนดดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ทั้งในทางนำสืบของจำเลยก็รับว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ก็จะสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่ ป. นายวงแชร์ซึ่งมิใช่นิติบุคคลการเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ ไม่

==================================================


รับ ทวงหนี้ ตามหนี้ เร่งรัดหนี้สิน โดยทีมงานเร่งรัดหนี้สินมืออาชีพ


               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน นักสืบเอกชนและกฎหมายแบบครบวงจร มีการให้บริการด้าน การ เร่งรัดหนี้สิน การ รับทวงหนี้ การติด ตามหนี้ สินค้างชำระ การเจรจา ประนอมหนี้ การเจรจาต่อรองการ ชำระหนี้ ทำหนังสือ รับสภาพหนี้ การ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยรับติดตามหนี้สินทุกประเภท ทั้งหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง เช่น การติดตามหนี้เงินกู้ การติดตามหนี้การค้างชำระค่าสินค้า การติดตามคนค้ำประกันเงินกู้ ทั้งประเภทที่มีสัญญาหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตาม กฎหมาย หนี้นอกระบบ และประเภทที่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย และมูลหนี้ที่ไม่สามรถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน ( รวมถึงกรณีที่เป็นหนี้ที่ขาดอายุ ความ เช่น เช็คขาดอายุความ ) หนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น คดีจราจร (รถชนกันได้รับความเสียหาย) คดียักยอก ฉ้อโกง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ต้องหาได้ รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย โดยทีมงานนักสืบและพนักงานเร่งรัดหนี้สินที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการ เร่งรัดติดตามหนี้สิน (อ่านรายละเอียด)


================================================


          กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)



บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view