หน้าแรก เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา

เมนู

 

ฟ้องชู้ คำพิพากษาศาลฎีกา การฟ้องเรียกค่าทดแทน กรณีชู้สาว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559

               ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าประเด็นหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์โดยไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้แทน จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และจำเลยที่ 2 เห็นว่ารับผิดในค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งจึงวางเงินเพียง 3,260 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นว่าศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์มาโดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพิ่มเติม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องแล้ว แสดงว่าไม่จงใจจะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
               โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558

               บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557

               ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
               โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ น. อยู่กินดัวยกันมาประมาณ 16 ปี มีบุตร 2 คน เมื่อต้นเดือนเมษายน 2554 โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ น. และร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณ โจทก์ฟ้องหย่า น. ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ น. รับว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและร่วมประเวณีกับจำเลยจริง ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้รับความอับอายต่อหน้าที่การงาน อาชีพ ชื่อเสียง และการใช้ชีวิตประจำวันและเดือดร้อนทรมานจิตใจตลอดมา โจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากการเป็นชู้ของจำเลยเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้ได้รับความอับอายเป็นเงิน 400,000 บาท ค่าเสื่อมเสียสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ 


               จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง 


               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท 


               โจทก์อุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 


               โจทก์ฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาของ น. จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน โจทก์ฟ้องหย่า น. อ้างเหตุว่า น. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย และร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณ ต่อมาโจทก์กับ น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์และ น. ตกลงหย่าขาดจากกัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 215/2554 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาโจทก์และ น. จดทะเบียนหย่ากัน 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์กับ น. สามีโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีที่โจทก์ฟ้องหย่ากัน การหย่ากันระหว่างโจทก์กับ น. จึงถือได้ว่า ศาลพิพากษาให้หย่ากันด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แล้ว เมื่อจำเลยเป็นเหตุแห่งการหย่า โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้นั้น เห็นว่า ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้ จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น 


               พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555

               ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย
               โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ 


               จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง 


               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 


               โจทก์อุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลเป็นเงิน 6,000 บาท 


               จำเลยฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่า มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว แต่เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมาได้ความเพียงว่า โจทก์เริ่มสงสัยในความสัมพันธ์ของสามีโจทก์กับจำเลยนับแต่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามจากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งส่งถึงสามีโจทก์ให้ชำระหนี้ที่สามีโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าว มิใช่จำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ทั้งโจทก์ยังต้องเป็นฝ่ายสืบหาว่าจำเลยเป็นใคร จนกระทั่งทราบจากนาง พ. และนาง อ. ซึ่งมีสามีทำงานอยู่ที่เดียวกันกับสามีโจทก์ แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์ปากนาง พ. เพียงว่า ทราบจากบุคคลที่ไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อสามีโจทก์เพราะปิดเครื่อง แต่เมื่อโทรศัพท์เข้าเครื่องโทรศัพท์จำเลยก็ปรากฏว่าสามารถติดต่อกับสามีโจทก์ได้ โดยนาง พ. ไม่ใช่เป็นคนที่โทรศัพท์หรือพูดคุยด้วยแต่อย่างไร เพียงรับฟังมาเนื่องจากอยู่ในบริเวณนั้นเท่านั้น ส่วนนาง อ. พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับจำเลยแต่ก็ไม่ปรากฏว่า นาง อ. จะเบิกความว่าเคยพบเห็นการกระทำของสามีโจทก์กับจำเลยในเชิงความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาก่อน จนกระทั่งจำเลยและนาง อ. ไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกันในระหว่างที่ไปศึกษาระดับปริญญาโท ที่เขตการศึกษา 3 อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และเห็นสามีโจทก์ไปหาจำเลยประมาณ 2 ครั้ง ในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเรียนและกลับมาบ้านแล้ว และสามีโจทก์จะกลับไปในตอนเช้านั้น แต่นาง อ. ก็เบิกความกล่าวอ้างไว้ลอยๆ โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าวทั้งที่สามีนาง อ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสามีโจทก์ก็พักอาศัยอยู่ด้วย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่า ในระหว่างเรียนนั้น จำเลยไม่ได้ไปพักอยู่กับนาง อ. จำเลยไปเรียนในวันเสาร์และอาทิตย์โดยขับรถไปจึงให้ทำให้พยานโจทก์ปากนี้มีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยกับสามีโจทก์ อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 1523 วรรคสองนั้น จำเลยต้องแสดงตน โดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น 


               พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552

               แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย
               โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 8,000 บาท จนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุครบ 20 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาแก่โจทก์ 


               จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง 


               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ 


               โจทก์อุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 


               โจทก์ฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 2 คน คือ เด็กชาย น. และเด็กชาย อ. จำเลยทั้งสองรู้จักและติดต่อกัน มีทรัพย์สินบางอย่างของจำเลยที่ 1 อยู่ในบ้านของจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 พร้อมกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปนำกลับมา ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้มีหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ยังมีหนังสือขอความเป็นธรรม 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นาง บ. เด็กชาย น. จ่าสิบเอก บ. และนางสาว พ. เป็นพยานเบิกความถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสอง เริ่มจากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 ขนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ออกจากบ้านแล้วไม่ค่อยกลับ ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับบ้านด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โจทก์จึงสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับว่าไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 วันรุ่งขึ้นโจทก์พร้อมด้วยจำเลยที่ 1 กับบุตรทั้งสองพากันไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 และขนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ของจำเลยที่ 1 กลับ ระหว่างนั้นได้พบกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงพูดตักเตือนแต่จำเลยที่ 2 กลับบอกว่าเรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ ในเดือนกรกฎาคม 2546 โจทก์จองตั๋วเครื่องบินให้จำเลยที่ 1 เพื่อไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดสงขลา แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แจ้งเลื่อนการเดินทาง โจทก์จึงว่าจ้างรถจักรยานยนต์ไปบ้านจำเลยที่ 2 โดยพาบุตรทั้งสองไปด้วย ขณะผ่านหน้าบ้าน โจทก์เห็นจำเลยทั้งสองนั่งอยู่ด้วยกันจึงให้คนขับรถจอดรถเลยบ้านไปแล้วโจทก์เดินไปดูแต่ไฟในบ้านปิดแล้ว โจทก์กดสัญญาณกริ่งเรียก จำเลยที่ 2 ออกมาบอกว่าจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ โจทก์จึงโทรศัพท์เรียกจ่าสิบเอก บ. และนางสาว พ. มารอดูอยู่จนถึง 1 นาฬิกา เห็นจำเลยที่ 1 นั่งรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ออกมา วันที่ 10 สิงหาคม 2546 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา โจทก์พร้อมด้วยบุตรทั้งสองไปบ้านจำเลยที่ 2 พบจำเลยที่ 2 นอกกอดจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 1 เห็นโจทก์จึงออกมาบอกให้กลับไปก่อน แต่โจทก์ไม่กลับ จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์และให้จำเลยที่ 2 ไปรอที่บันได ขณะนั้นนาย ส. พนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านผ่านมาโจทก์จึงกลับบ้านพร้อมบุตรทั้งสอง ปลายเดือนตุลาคม 2546 เด็กชาย น. เห็นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เข้ามาจอดในหมู่บ้านเบญจทรัพย์ที่โจทก์อยู่อาศัย จึงไปบอกโจทก์และนาง บ. มารดาโจทก์ โจทก์ขับรถยนต์ตามไปไม่ทัน ต่อมาโจทก์ร้องเรียนจำเลยที่ 2 ไปยังวิทยาลัยพลศึกษาสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยโจทก์ เด็กชาย น. จ่าสิบเอก บ. และนางสาว พ. ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการดังกล่าว เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างประกอบอาชีพรับราชการ มีตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ดีและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู ส่วนเด็กชาย น. เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และโจทก์ย่อมมีความรักใคร่ในตัวจำเลยที่ 1 และโจทก์ผู้เป็นบิดามารดา สำหรับนาง บ. เป็นมารดาของโจทก์ จ่าสิบเอก บ. และนางสาว พ. เป็นน้องชายและน้องสะใภ้ของโจทก์ย่อมมีความปรารถนาดีต่อครอบครัวของโจทก์ ไม่มีเหตุผลที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นหาเหตุให้ครอบครัวของโจทก์ต้องแตกแยกกัน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์มีอาการผิดปกติทางจิตโดยบอกจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เป็นร่างทรงของเจ้าแม่กวนอิม หากจำเลยที่ 1 ให้ของแก่ใครให้เอาคืนมา มิฉะนั้นบุตรจะถึงแก่ความตายนั้นในข้อนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านโจทก์ไว้เพื่อให้มีโอกาสอธิบายว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่อย่างไร เป็นการนำสืบในภายหลังแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังข้อนำสืบของโจทก์ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามหนังสือที่โจทก์ เด็กชาย น. จ่าสิบเอก บ. และนางสาว พ. ชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่วิทยาลัยพลศึกษาสมุทรสาครแต่งตั้งขึ้นดังกล่าว โดยมีรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งวันเวลาและสถานที่ที่พบเห็นจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกันตามที่พยานโจทก์แต่ละคนรู้เห็น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักจำเลยที่ 2 ในฐานะภริยา แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ในเวลากลางคืนและอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดซึ่งบ้านดังกล่าวอยู่ในหมู่บ้านวรารมย์ แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมชน และจำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันโดยเปิดเผย ทั้งจำเลยที่ 2 เคยขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ออกจากบ้านดังกล่าวไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรตำบลท่าฉลอมและขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 ที่สถานีตำรวจดังกล่าว หลังจากแวะซื้อผลไม้แล้วจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนมาเป็นคนขับแทนการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 เช่นนั้นบ่งชี้ถึงการมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวและมีการเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ถือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ได้ ที่นาย อ. และนาย ส. มาเป็นพยานจำเลยทั้งสองโดยนาย อ. เบิกความว่า โจทก์ได้ให้พยานช่วยสืบดูว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ในทำนองชู้สาวกับหญิงอื่น พยานสืบดูแล้วไม่พบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ดังกล่าวและนาย ส. เบิกความว่าพยานไม่ได้เขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.10 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ซึ่งขณะลงลายมือชื่อยังไม่มีข้อความ พยานไม่รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ก็ไม่ถึงกับทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ขาดน้ำหนักในการรับฟังสำหรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากโจทก์และเด็กชาย น. ว่า จำเลยที่ 1 ได้เล่าเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 ให้เด็กชาย น. ฟังด้วยนั้นคงเป็นเพราะโจทก์ได้ชวนเด็กชาย น. ไปบ้านที่จำเลยที่ 1 อยู่กับจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อขนสิ่งของของจำเลยที่ 1 กลับบ้าน เด็กชาย น. ย่อมจะต้องสอบถามว่าจำเลยที่ 2 เป็นใครนั่นเอง แม้คำเบิกความและข้อเท็จจริงที่โจทก์และพยานโจทก์มีหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของจำเลยที่ 1 จะมีข้อที่แตกต่างหรือขาดตกบกพร่องไปบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดแต่ได้ความในสาระสำคัญตรงกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองสำหรับประเด็นในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าทดแทน และอำนาจปกครองบุตรนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้วดังนั้น เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาในประเด็นดังกล่าวก่อน เมื่อฟังได้ว่าเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่โจทก์ โดยคำนึงถึงความสามารถของจำเลยที่ 1 ฐานะของโจทก์ประกอบพฤติการณ์แห่งกรณีแล้วเห็นควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคน คนละ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้แก่โจทก์นั้นเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องจ่ายให้แก่โจทก์ 150,000 บาท สำหรับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เห็นว่า บุตรผู้เยาว์ทั้งสองสมัครใจที่จะอยู่กับโจทก์ และโจทก์ก็เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน" 


               พิพากษากลับ ให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง คือ เด็กชาย น. และเด็กชาย อ. แต่ผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนละ 3,000 บาทต่อเดือน จนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท คำขออื่นให้ยก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552

               เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
               โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายเทพฤทธิ์ บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และเด็กชายเทพฤทธิ์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ 


               จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง 


               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวนเงิน 20,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 


               โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 


               โจทก์ฎีกา 


               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ทั้งที่รู้อยู่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 แล้วว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากัน เป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่น คือ จำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ และจำเลยที่ 2 เมื่อรู้แล้วว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว หากรับการอุปการะเลี้ยงดูหรือรับการยกย่องฉันภริยาก็ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้ โดยถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น 
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้ขณะจำเลยที่ 2 เริ่มมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ในเดือนตุลาคม 2543 จึงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 และเมื่อได้ความด้วยว่า ประมาณปลายปี 2544 จำเลยที่ 2 ได้ย้ายกลับไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองจึงน่าจะห่างกันไปแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ยังคงได้รับการให้เกียรติจากญาติตลอดจนเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 1 ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ 20,000 บาท นั้น จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 


               พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเห็นสมควรให้ตกเป็นพับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552

               ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้
               โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2518 ภายหลังได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2540 จำเลยออกจากบ้านโดยมีเจตนาที่จะละทิ้งร้างโจทก์ ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่นจำเลย จำหน่ายสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ คือ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ห้องชุดบ้านสวนบางเขน ทาวน์เฮาส์ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หุ้น และเงินปันผลของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง และเงินบำเหน็จที่จำเลยได้รับเนื่องจากลาออกจากกรมประมง ซึ่งเงินจากการขายรถยนต์ทั้งสองคัน ค่าหุ้น และเงินปันผลรวมทั้งเงินบำเหน็จ จำเลยต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 671,000 บาท ส่วนห้องชุดทาวน์เฮาส์และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นสินสมรส จำเลยต้องแบ่งในส่วนของโจทก์ด้วย การที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสียชื่อเสียง ขอคิดค่าทดแทนเป็นเงิน 5,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท และชดใช้สินสมรสที่ได้จัดการไปในทางที่เสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 671,000 บาท ให้จำเลยถอนดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ที่ถูก บัญชีเงินฝากประจำ) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่ 047-2-12xxx-x ณ วันทำการเบิกถอนให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยแบ่งสินสมรส คือห้องชุดบ้านสวนบางเขน เลขที่ 2x/xxx ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และทาวน์เฮาส์เลขที่ 9x/xx พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 137xxx ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 137xxx แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร) ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง 


               จำเลยให้การว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้มีการพิจารณาพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 920/2544 มาแล้ว คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับเหตุหย่าว่ายังไม่พอฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) ทิ้งร้างโจทก์ (จำเลยคดีนี้) ไปเกิน 1 ปี ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นเหตุหย่าตามฟ้อง คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ จำเลยไม่ได้จ่ายโอนสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยยินดีแบ่งดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

               
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ 500,000 บาท ให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่บัญชี 047-2-12xxx-x จำนวนเงิน 2,646,484.08 บาท มาชำระแก่โจทก์ และให้จำเลยถอนดอกเบี้ยของเงินฝากดังกล่าวที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดมาชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ถอนเงินทั้งสองรายการมาชำระแก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้โจทก์และจำเลยแบ่งห้องชุดบ้านสวนบางเขน เลขที่ 2x/xxx ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และทาวน์เฮาส์เลขที่ 9x/xx พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 137xxx ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจัตุจักร กรุงเทพมหานคร (ที่ถูกโฉนดเลขที่ 137xxx แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร) คนละครึ่ง หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำออกประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งกันคนละครึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ 


               โจทก์อุทธรณ์

               
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 9 ฬ - 3xxx กรุงเทพมหานคร จำเนวน 500,000 บาท เงินค่าหุ้นและเงินปันผลจากสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำนวน 142,000 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยลงชื่อเบิกถอนดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่ 047-2-12xxx-x มาชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยถอนดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ดอกเบี้ยเงินฝากจนถึงวันดังกล่าวหลังจากแบ่งกันแล้วต้องไม่เกิน 2,799,644.21 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ 


               โจทก์ฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี และมาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าทดแทนตามมาตรา 1523 และมาตรา 1524 นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนจำเลยจะละทิ้งร้างโจทก์ไปนั้น เมื่อเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2540 จำเลยป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองตีบซึ่งแพทย์แนะนำให้จำเลยงดการขับรถยนต์ ส่อแสดงสมรรถภาพทางร่างกายของจำเลยไม่ปกติเช่นคนธรรมดาทั่วไป และขณะถูกฟ้องจำเลยมีอายุ 60 ปี อีกทั้งโจทก์เบิกความว่า นอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งแล้ว โจทก์ยังประสงค์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในกรณีจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน เพื่อนฝูงและคนรู้จักกันจะว่าโจทก์เป็นหญิงหม้ายที่สามีทิ้งร้างไป ทำให้โจทก์อับอาย โดยคนเหล่านั้นเข้าใจว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิด โจทก์จึงต้องการเรียกร้องค่าทดแทนดังกล่าวเป็นเงิน 5,000,000 บาท ตามฟ้องโจทก์มิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่า โจทก์ควรได้ค่าทดแทนเท่าใด เมื่อคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีประกอบบทบัญญัติ มาตรา 1525 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้ว เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฏีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในประเด็นข้อนี้จึงชอบด้วยเหตุผลศาลฏีกาเห็นพ้องด้วย ฏีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" 


               พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฏีกาให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551

               โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 
แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2) 
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของ พ. โจทก์สืบทราบว่า จำเลยกับ พ. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน และแสดงออกแก่บุคคลอื่นว่าจำเลยเป็นภริยาของ พ. รวมทั้งจำเลยกับ พ. เข้าพักค้างแรมที่โรงแรม ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงานและบุคคลทั่วไป เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 


               จำเลยให้การว่า จำเลยรู้จักกับ พ. สามีโจทก์เนื่องจากได้ร่วมงานในหน้าที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องหย่ากับสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง

               
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 


               จำเลยอุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน 


               จำเลยฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงศาลชั้นพิพากษาให้จำเลยใช้ทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ถือว่าจำนวนทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยหาว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ พ. ทำนองชู้สาวทำให้เกิดความแตกร้าวในครอบครัว อันเป็นสิทธิในครอบครัวจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยประเด็นนี้ก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยโจทก์อ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะกรณีเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความร้าวฉานในครอบครัว จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับ พ. ในทำนองชู้สาวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี พ. เป็นพยานเบิกความประกอบพยานอื่นสอดคล้องกับที่ พ. เบิกความและตามบันทึกข้อเท็จจริงซึ่ง พ. ได้ทำขึ้นโดยมีรายละเอียด ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พ. กับจำเลย จึงน่าเชื่อว่า พ. เบิกความตามความเป็นจริง ทั้งตามรายการใช้โทรศัพท์ของหมายเลข 0-1882-xxxx ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่ พ. ใช้นั้นได้มีการโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์หมายเลข 0-1884-xxxx ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นของจำเลยจำนวนหลายครั้ง อันเป็นการสอดคล้องกับที่ พ. เบิกความว่ามีการติดต่อทางโทรศัพท์กับจำเลยตลอดในการนัดเจอกัน แม้ว่ารายการใช้โทรศัพท์ดังกล่าวจะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้จำเลยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกบริษัทคือบริษัทแอ๊ดวานซ์อินโฟรเซอร์วิช จำกัด โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 (2) จึงรับฟังเป็นพยานได้ การที่จำเลยไปรับประทานอาหารกับ พ. ร่วมกับเพื่อนของจำเลยและเพื่อนของ พ. โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนรู้จักในการทำงานทั่วไปจนขนาดเพื่อนของ พ.สังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษนี้ได้ และการที่จำเลยไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งกับ พ. โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของ พ. เพื่อนของจำเลยและพนักงานโรงแรมก็ตามก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ และค่าทดแทนนั้นเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหายซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับราชการครูเป็นผู้มีชื่อเสียง ในเขตอำเภอเมืองปาน และอำเภอเมืองปานเป็นอำเภอเล็กๆ ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยและ พ. ย่อมแพร่ไปได้ง่าย ประกอบกับโจทก์มีบุตรกับ พ. ด้วยกัน 1 คน โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างส่วนนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น จึงเหมาะสมแล้ว 
มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องหย่า พ. เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย เห็นว่ากรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องได้นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" 


               พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8774/2550

               ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
               โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเป็นชู้กับภริยาของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ประสงค์จะใช้สิทธิของศาลเพื่อบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 ต่อมา โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่ศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2541 ของศาลชั้นต้น ในวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยโอนที่ดินของจำเลยจำนวน 2 แปลง ให้แก่ผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งจำเลยทราบดีว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก ตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 


               ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลให้ยกฟ้อง 


               โจทก์อุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี 


               ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง 


               จำเลยให้การปฏิเสธ 


               ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 3 เดือน 


               จำเลยอุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน 


               จำเลยฎีกา 


               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย เพราะจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินไปก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4179 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลย และโฉนดเลขที่ 834 ตำบลปากพลี (เบ็ญพาศ) อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่บุตรจำเลย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น 


               พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548

               ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรี ท. จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับพลตรี ท. สามีโจทก์ ในทำนองชู้สาวโดยเข้าไปพักอาศัยอยู่กินอย่างสามีภริยาและเปิดเผยในบ้านหลังเดียวกันกับสามีโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อน ขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 


               จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว จำเลยไม่เคยพักอาศัยในบ้านเดียวกันกับสามีโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง 


               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท 


               โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ 


               ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 


               จำเลยฎีกา 


               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ภริยาที่จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะต้องเป็นภริยาที่อยู่ร่วมกับสามีฉันสามีภริยาและอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน แต่คดีนี้โจทก์กับสามีนอกจากจะมิได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว ยังมีคดีฟ้องหย่ากันก่อนที่จะเกิดเหตุตามฟ้อง และปัจจุบันศาลได้พิพากษาให้โจทก์กับสามีหย่ากันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้แม้โจทก์กับสามีจะมีพฤติการณ์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ชอบแล้ว 


               พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

               โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้
การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก
สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 ณ สำนักทะเบียนอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิง ก. และเด็กชาย ธ. เมื่อประมาณต้นปี 2536 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักและสนิทสนมในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ขอให้จำเลยที่ 2 เลิกยุ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อต้นปี 2541 โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจเป็นสามีภริยากันอย่างเปิดเผย โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ณ สำนักทะเบียนอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างที่โจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดาพึงกระทำจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร แต่ไปอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงและเกียรติคุณ โจทก์ไม่สามารถที่จะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้บุตรผู้เยาว์คือเด็กหญิง ก. และเด็กชาย ธ. อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์



               จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาและพักอาศัยร่วมกันที่บ้านบิดาและมารดาของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ถูกดูถูกเหยียดหยาม แสดงความรังเกียจจากบิดามารดาของโจทก์ตลอดเวลา และบิดามารดาของโจทก์บีบบังคับให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดจำนวน 30,000 บาท มาให้เพื่อทำรั้วบ้าน จำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มามอบให้ เมื่อทำรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้วบิดามารดาของโจทก์ขับไล่ให้จำเลยที่ 1 ไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 อาศัยร่วมด้วย จำเลยที่ 1 ต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักราชการของผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 1 มีบ้านพักเป็นของตนเองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์มาอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ยอมมา ต่อมาในปี 2532 จำเลยที่ 1 ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1 ได้ชวนให้โจทก์ย้ายไปอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่โจทก์ไม่ยอมไป โดยโจทก์มีเจตนาจะแยกจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษเพียงลำพังตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 เริ่มรู้จักกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อต่อรองให้โจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมมาและบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากจะมีภริยาใหม่ โจทก์ก็ไม่ขัดข้อง แต่จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินมาให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไปนำเงินสดมาจากจำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท ตามที่ตกลงกัน จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ด้วยการรู้เห็นยินยอมของโจทก์มาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า โจทก์บ่ายเบี่ยงโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 หาเงินสดมาให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท ก่อนจึงจะยอมปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงไปกู้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 32,000 บาทและมอบให้แก่โจทก์ ในปี 2536 โจทก์นัดหมายจะไปจดทะเบียนหย่าแต่เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ก็ไม่ไป โจทก์ได้มาขนทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบ้านของจำเลยที่ 1 จนไม่มีทรัพย์สินเครื่องใช้เหลืออยู่เลย ต่อมาในปี 2539 โจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านของมารดาจำเลยที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ อ้างว่าวันรุ่งขึ้นจะไปจดทะเบียนหย่าให้กับจำเลยที่ 1 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ยอมมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองให้แก่โจทก์ไป แต่โจทก์ไม่ยอมไปตามนัด โจทก์หลอกลวงเรียกร้องเงินสดและทรัพย์สินจำนวนมากจากจำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง และรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 อยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในฐานะบิดามาตลอด แม้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะแยกกันอยู่ จนกระทั่งเมื่อโจทก์ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 จึงระงับการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาทนั้น เป็นเงินที่สูงเกินไป โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว หากจะนับเวลาตั้งแต่ปี 2536 มาจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องขอให้ยกฟ้อง

               

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน ในชั้นมัธยมศึกษาคนละ 3,000 บาท ต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษาคนละ 4,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันพิพากษาไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์



               จำเลยทั้งสองอุทธรณ์



               ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าบุตรทั้งสองมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

               

จำเลยทั้งสองฎีกา



               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาเมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย โดยที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น



               คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 เคยแจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์บอกกับจำเลยที่ 1 ว่าจะมีภริยาใหม่โจทก์ไม่ขัดข้อง หากจำเลยที่ 2 นำเงินมาให้โจทก์ 30,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงมอบเงินของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท จำเลยที่ 1 เคยนำรูปของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดู โจทก์ก็เฉยและบอกว่าอยากมีก็มีไป ขอให้ได้รับเงินเดือนทุกเดือนนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ถามค้านโจทก์ถึงข้ออ้างดังกล่าว ทั้งหากโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันแล้วจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ในการพิจารณาเลื่อนชั้นระดับของจำเลยที่ 2 ส่วนการที่โจทก์เห็นภาพถ่ายงานพิธีมงคลสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือดำเนินการทางศาลนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองนั้นโจทก์ไม่ทราบ แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองจะจัดพิธีมงคลสมรสกัน แม้ต่อมาโจทก์เห็นภาพถ่ายดังกล่าวในภายหลังแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน



               คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจัดพิธีมงคลสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน



               คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสองเพียงใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้แก่ทางราชการอยู่ ควรรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีภาระต้องชำระหนี้ของทางราชการแล้วก็ยินยอมรับผิดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท ต่อไปนั้นเห็นว่า ตามใบแจ้งการหักเงินเดือนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือน 14,325 บาท ถูกหักค่าสหกรณ์จำนวน 7,004.63 บาท และหักอย่างอื่นอีก คงเหลือเงินเดือนที่ได้รับ 6,630.37 บาท แม้จะยังเหลือหนี้เงินต้นอยู่อีก103,800 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีเงินค่าหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเงิน 63,050 บาท ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่ามิได้จ่ายเงินช่วยเหลือโจทก์และบุตรทั้งสองมาตั้งแต่ต้นปี 2541 ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงรายได้และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่มีคำพิพากษานั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง"



               พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 2,500 บาท ต่อเดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่สองต่อไปเดือนละ 4,000 บาท จนกว่าบุตรคนที่สองจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2544

               ก่อนฟ้องหย่า โจทก์พาจำเลยทั้งสองไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าพบจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องและหลับนอนอยู่ด้วยกันสองต่อสอง และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนและมีการบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลยที่ 2 หนังสือร้องเรียนเป็นเรื่องเข้าใจผิด โจทก์ได้ปรับความเข้าใจกับจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจกันดีแล้วทุกอย่าง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2 รับว่าจะไม่ฟ้องร้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว รายงานประจำวันดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246,247
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชาย ก. กับเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ทั้งสองอายุ 7 และ 4 ปี ตามลำดับโดยอยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ในช่วงปลายปี 2539 ถึงต้นปี 2540 จำเลยที่ 1 คบชู้กับชายอื่น โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่สำนึกผิดและคงประพฤติเช่นเดิมอีก โดยเป็นชู้ร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ 2 ในคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2540 ถึงเช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2540 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนให้โจทก์คนละ 100,000 บาท และให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนอยู่ในความปกครองของโจทก์ โดยถอนอำนาจปกครองจำเลยที่ 1
               จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 2 คน จริง จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ได้เป็นชู้กันเนื่องจากจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นครูต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นทั่วไปภายนอกโรงเรียน แต่โจทก์เป็นคนขี้ระแวงสงสัย ในคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมหลับนอนกัน โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจ 2 คนมาที่บ้านหลังดังกล่าวและกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นชู้กัน โจทก์ขอร้องให้จำเลยทั้งสองมาที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น แล้วแจ้งให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ว่าจำเลยทั้งสองเป็นชู้และร่วมหลับนอนกันที่บ้านเลขที่ 108 ดังกล่าว และร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ภายหลังโจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นชู้กันจริง เพียงแต่เกิดความระแวงสงสัยจึงถอนคำแจ้งความและคำร้องเรียน ขอให้ศาลยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 20,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ก. และเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
               จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
               จำเลยที่ 2 ฎีกา
               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.3 แล้ว มีข้อความสำคัญตอนท้ายว่าโจทก์ไม่ขอติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ซึ่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด โจทก์ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจกันดีแล้วทุกอย่าง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2 รับว่าจะไม่ฟ้องร้องกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว เห็นว่าแม้จำเลยทั้งสองจะเป็นชู้กันหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 การเรียกร้องค่าทดแทนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ยอมสละนั้นจึงระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังขึ้น"
               พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6558/2542

               การที่จำเลยกับ ป. สามีโจทก์ พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชน โดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุล ของ ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับ ป. แต่อย่างใด ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ หญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหน ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้อง ย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับ ป. ที่จังหวัดจันทบุรีและยังไปร้องเรียน ต่อผู้บังคับบัญชา ป. ให้ว่ากล่าวตักเตือน ป. ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใดที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของ ป. อีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมี ความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มหิดลประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับ ป. สมรส กันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน สถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของ สิบตำรวจเอก ป. โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2530 มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสิบตำรวจเอก ป. โจทก์ต้องจ่ายเงิน 40,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อไม่ให้จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอก ป. และไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิบตำรวจเอก ป. ต่อไป แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2538 จำเลยกลับแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอก ป. อีก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทน 200,000 บาท และอีกเดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอก ป.
               จำเลยให้การว่า เมื่อปลายปี 2538 จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยากับสิบตำรวจเอก ป. โดยถูกสิบตำรวจเอก ป. หลอกลวงว่ายังไม่มีภริยา และต่อมาโจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอก ป. ยกย่องจำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จำเลยไม่เคยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสิบตำรวจเอก ป. โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
               จำเลยอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
               จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และสิบตำรวจเอก ป. เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 มีบุตรด้วยกัน 1 คน ปลายปี 2538 จำเลยและสิบตำรวจเอก ป. พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่ถนนพระยาตรัง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชาย พ. คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอกป. ในทำนองชู้สาวหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยกับสิบตำรวจเอก ป. พักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าอย่างเงียบ ๆ ไม่มีใครทราบและไม่เคยออกงานสังคมกับสิบตำรวจเอก ป. จำเลยจึงมิได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอก ป. ในทำนองชู้สาวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับสิบตำรวจเอก ป. พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชนโดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุลของสิบตำรวจเอก ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอก ป. ในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับสิบตำรวจเอก ป. ด้วยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
               ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปคือ โจทก์ยินยอมให้สิบตำรวจเอก ป. มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และพันตำรวจตรี พ. มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอก ป. มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลย โจทก์เคยไปหาจำเลยขอร้องให้ยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับสิบตำรวจเอก ป. แต่จำเลยไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ดังกล่าว โจทก์ยังเคยไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสิบตำรวจเอก ป. เกี่ยวกับเรื่องที่สิบตำรวจเอก ป. มาได้จำเลยเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง จนสิบตำรวจเอก ป. ถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนและรับว่าจะปฏิบัติตามคำตักเตือน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและสิบตำรวจเอก ป. มาเบิกความเป็นพยานว่าหลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยและสิบตำรวจเอก ป. มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นภริยาของสิบตำรวจเอก ป. อีกคนหนึ่ง โดยตกลงกันว่าให้อยู่กันคนละบ้านและอยู่กันคนละวันสลับกัน เห็นว่า ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหนสิบตำรวจเอก ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้องย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับสิบตำรวจเอก ป. ที่จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสิบตำรวจเอก ป. ให้ว่ากล่าวตักเตือนสิบตำรวจเอก ป. ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใด ที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของสิบตำรวจเอก ป. อีกคนหนึ่ง จำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า เมื่อต้นปี 2539 สิบตำรวจเอก ป. ถูกย้ายไปอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโป่งน้ำร้อน เพื่อไปอยู่กับโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้วิ่งเต้นให้ย้ายไป แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้สิบตำรวจเอก ป. ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มิได้ยินยอมให้สิบตำรวจเอก ป. มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสิบตำรวจเอก ป. ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
               ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายคือ ค่าทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า สิบตำรวจเอก ป. มิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่ามีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากสิบตำรวจเอก ป. 1 คน ทั้งมีรายได้เพียงจากการขายสลากกินแบ่งเท่านั้น ค่าทดแทนที่กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้จำนวน 100,000 บาท จึงสูงเกินไป ขอให้ลดลงเหลือเพียง 20,000 บาท นั้น เห็นว่า ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับสิบตำรวจเอก ป. สมรสกันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คนสถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2539

               สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองกฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(1)
               โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีที่ดินเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โดยไปพักแรมต่างจังหวัดด้วยกันเป็นประจำและยังพักหลับนอนค้างคืนร่วมกันที่ห้องนอนของโจทก์บ่อยครั้ง และจำเลยที่ 1 กระทำการเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันกับโจทก์อย่างร้ายแรง จึงขอหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 และขอเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะสมรสใหม่ ขอให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง และขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
               จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติปฎิบัติเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงกับโจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้มีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว ที่ดินตามฟ้องมิใช่เป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
               จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
               จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               จำเลยที่ 2 ฎีกา
               ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่ว่า ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ทั้งมาตรา ย่อมต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 นี้ กฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้ จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลยที่ 1 สามีโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538

               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมา จนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกัน มายังมิได้หยุด การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและ มีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้นเป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
               โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2517 โจทก์กับนาย ว. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน เมื่อประมาณกลางปี 2529 จนถึงปัจจุบันจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ทั้งที่จำเลยทราบดีว่าสามีโจทก์มีบุตรและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยกระทำการนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า เสื่อมเสียชื่อเสียง ครอบครัวของโจทก์ต้องประสบกับความร้าวฉานจนอาจถึงขั้นแตกแยก เป็นการทรมานจิตใจของโจทก์ และบุตรทั้งสองคนของโจทก์อย่างร้ายแรงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเป็นค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาทและค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 25,000 บาท ทุกเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับสามีโจทก์แก่โจทก์
               จำเลยให้การว่า จำเลยกับสามีโจทก์มิได้มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาว โจทก์ทราบเหตุการกระทำของจำเลยที่โจทก์ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และเป็นข้ออ้างฟ้องคดีนี้เมื่อประมาณกลางปี 2529 โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 60,000 บาทให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

               โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และนาย ว. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตั้งแต่กลางปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
               ที่จำเลยฎีกาว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้น เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง"
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538

               โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรก หรือไม่
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้อุปการะ เลี้ยงดู ยกย่อง จำเลยที่ 2 ฉันสามี ภริยาและทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว ยังแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธกับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 หย่าขาดกับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่า อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทดแทนเป็น เงิน 10,000,000 บาท และ 20,000,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย
               จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสองด้วยดีตลอดมา แต่ภายหลังขาดการส่งเสียไปบ้าง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำงาน ประกอบกับเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทหึงหวงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ไม่อาจอยู่กินร่วมกับโจทก์ได้อีกต่อไป จึงออกจากบ้านไปอยู่กินร่วมกับจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 ยินยอมหย่าขาด จากโจทก์และยอมให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง แต่ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสองที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1), 1523 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 1529 เพราะขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์ เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ให้ จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ เดือนละ 2,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2529 จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาด และจ่าย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง คนละ 2,500 บาท ต่อเดือน นับแต่เดือนมกราคม 2529 จนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ โดยจ่ายให้บุตร คนโตเพียงวันที่ 28 มิถุนายน 2533 ซึ่งเป็นวันบรรลุนิติภาวะ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ คนละ 150,000 บาท
               จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
               จำเลยที่ 2 ฎีกา
               ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ ปี 2528 ตลอดมา จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะ การกระทำของจำเลยที่ 2 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
               ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดย เปิดเผยเพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 สามีของโจทก์ในทำนองชู้สาว โดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะ เหตุตามมาตรา 1516(1) ตาม ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรก หรือไม่
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6553/2537

               โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า โจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ยอมหย่ากับสามี จำเลยจะไม่ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย ว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ในทำนองชู้สาวโจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนาย น. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2530 โจทก์และสามีได้ย้ายจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มารับราชการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน สามีโจทก์ได้ไปติดพันจำเลยซึ่งเป็นนักร้องอยู่ห้องอาหารแห่งหนึ่ง โจทก์ได้ขอร้องให้สามีโจทก์และจำเลยเลิกติดต่อกันแต่ได้รับการปฏิเสธ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2531 โจทก์ได้ไปที่บ้านจำเลยเพื่อรับบุตรสาวของโจทก์ ซึ่งสามีโจทก์นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านจำเลย จำเลยได้ตบหน้าโจทก์ที่ด้านซ้ายอย่างแรงขณะโจทก์นั่งอยู่ในรถยนต์โจทก์เสียหลักชายโครงด้านขวากระทบกับตัวรถมีเลือดไหลที่ใบหน้าและรู้สึกปวดที่ชายโครงด้านขวา โจทก์จึงไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย การที่จำเลยแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นภริยาของสามีโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 80,000 บาท และค่าเสียหายต่อร่างกายเป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
               จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นภริยาของนาย น. เพราะได้ตกลงหย่าขาดกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจหวงห้ามมิให้จำเลยมีความสัมพันธ์หรือแสดงออกถึงความสัมพันธ์ใด ๆ กับนาย น. โจทก์เป็นคนมีความประพฤติไม่เรียบร้อย โจทก์ชอบด่านาย น. ด้วยคำหยาบและคำไม่เหมาะสมจนนาย น. เกิดความอับอาย โจทก์เคยด่าจำเลยด้วยคำหยาบ ดูถูกเหยียดหยามและใส่ความจำเลยหลายครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งโจทก์ได้เขียนข้อความในกระดาษอย่างเปิดเผยด่าจำเลยด้วยคำหยาบและใส่ความจำเลยแล้วมอบให้ผู้อื่นนำมาให้จำเลย จำเลยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์ได้เสนอขอยอมความกับจำเลยโดยตกลงหย่ากับนาย น. โจทก์จึงมิได้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงและสถานะภาพทางสังคม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2531 โจทก์กับพวกขับรถยนต์มาจอดที่หน้าบ้านจำเลยแล้วร้องด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ใส่ความจำเลย จำเลยจึงต้องกระทำเพื่อป้องกันตนเอง โดยใช้มือลอดผ่านช่องหน้าต่างกระจกรถยนต์ที่โจทก์ไขลงไว้เพื่อด่า จำเลยจะดึงผมของโจทก์ แต่ปลายนิ้วของจำเลยปัดถูกหน้าของโจทก์เพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้โจทก์ บาดเจ็บถึงขนาดกระดูกซี่โครงร้าวได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
               โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย10,000 บาท และค่าทดแทน 50,000 บาท รวม 60,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีเพียงว่าหลังจากโจทก์กับนาย น. ซึ่งเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ได้ยินยอมหย่าโดยทำเป็นหนังสือและมีพยานลงชื่อ 2 คน แล้ว แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้มีข้อจะต้องพิจารณาว่าการหย่าดังกล่าวทำให้การสมรสสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ เห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 จะบัญญัติให้คู่สมรสทำการหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน โดยไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำไปจดทะเบียนหย่าก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นการสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียน เช่น การสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย การหย่ากันเองโดยไม่ต้องจดทะเบียนหย่าก็สมบูรณ์ แต่สำหรับกรณีนี้โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้ว ยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เหตุนี้เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าโจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้นแม้จำเลยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงหย่า ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าในทำนองชู้สาว โจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2537

               ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. จำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์และแสดงตนโดยเปิดเผยกับบุคคลอื่นว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์
               จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย ท. ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
               โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               โจทก์ฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 โดยให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เป็นบทบัญญัติในเรื่องละเมิดธรรมดาทั่วไป คือผู้ใดถูกละเมิดผู้นั้นย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แต่กรณีที่สามีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิของภริยานั้นมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง คือกรณีต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเท่านั้น ภริยาจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ และค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นโจทก์จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยเพราะจำเลยแสดงโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 โดยให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์อีกไม่ได้
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2537

               การฟ้องหย่า นอกจากมีเหตุฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 แล้ว ยังมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 ดังนั้นถ้ามีการหย่าโดยความยินยอมแล้ว แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมยังไม่สมบูรณ์ อีกฝ่ายหนึ่งจึงฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินกัน ต่อหน้าพยาน 2 คน โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าตามบันทึกที่ตกลงกัน จำเลยบ่ายเบี่ยงและคำขอท้ายฟ้องระบุว่าขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยมาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอม โจทก์จึงฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนได้ และพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์นั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ข้อความในบันทึกข้อตกลงการหย่า นอกจากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลบุตร ยังมีข้อความระบุว่า "ผู้เป็นภรรยาพอใจไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานการหย่าร้างครั้งนี้จึงให้มีพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ" ซึ่งมีข้อความระบุถึงการหย่าไว้แล้ว เมื่อมีผู้ลงนามเป็นพยาน 2 คน จึงครบถ้วนเป็นข้อตกลงหย่าด้วยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง แล้ว สิทธิฟ้องร้องที่ระบุไว้ในมาตรา 1529 คือสิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง มาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงการหย่า
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยกระทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ถูกดูถูกและเกลียดชังการกระทำของจำเลยถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกยินยอมหย่าและแบ่งทรัพย์สินกันแล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงและหลบเลี่ยงไม่ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ไปจดทะเบียนหย่า ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
               จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกล่าวคำหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์ สิทธิฟ้องร้องเพราะเหตุหย่าขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
               โจทก์อุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์
               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า (1) โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ และ (2) สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วหรือไม่ ดังนี้เหตุฟ้องหย่าตามประเด็นข้อ (1) จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) (ข) หรือ (ค) และ (6) ส่วนตามประเด็นข้อ (2) เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นการพิจารณานอกประเด็นข้อพิพาทและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่าตามประเด็นข้อ (1) ศาลชั้นต้นมิได้ระบุเจาะจงไว้ว่า เหตุฟ้องหย่าดังกล่าวคือเหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 การฟ้องคดีเพื่อหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา นอกจากกรณีที่ต้องมีเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 แล้ว ยังมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1515 ที่บัญญัติว่าการหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนหย่านั้นแล้ว ฉะนั้น ถ้ามีการหย่าโดยความยินยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองแล้ว แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมยังไม่สมบูรณ์ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีเหตุฟ้อง เพื่อให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินกันต่อหน้าพยาน 2 คน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าตามบันทึกที่ตกลงกัน จำเลยบ่ายเบี่ยง ไม่มีทางใดที่จะบังคับจำเลยได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ทั้งโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอม โจทก์จึงฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ และพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์นั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังจำเลยกล่าวอ้าง
               ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงขนาดให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีของจำเลย และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ทั้งไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่อาจอ้างมาเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ และสิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 นั้น เห็นว่า เมื่อประมวลความประสงค์ของโจทก์ที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามบันทึกข้อตกลงการหย่าที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.2 ส่วนข้อที่โจทก์บรรยายเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 มาด้วย เป็นเพียงส่วนประกอบที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุตามมาตรา 1516 แล้ว โจทก์จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งในการนำสืบของจำเลย จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 แต่อ้างว่าเป็นการตกลงเฉพาะเรื่องทรัพย์สินมิได้กล่าวถึงการหย่า ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ว่าเอกสารหมาย จ.2 มีผลเป็นการตกลงเกี่ยวกับการหย่าหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจข้อความในเอกสารหมาย จ.2 แล้ว นอกจากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลบุตร ยังมีข้อความระบุว่า "ผู้เป็นภรรยาพอใจไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานการหย่าร้างครั้งนี้จึงให้มีพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ" ซึ่งมีข้อความระบุถึงการหย่าไว้แล้ว เมื่อบันทึกข้อตกลงในการหย่ากันระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มีผู้ลงนามเป็นพยาน 2 คน จึงครบถ้วนเป็นข้อตกลงหย่าด้วยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง และที่จำเลยโต้แย้งในฎีกาว่า สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 นั้น เห็นว่า สิทธิฟ้องร้องที่ระบุไว้ในมาตรา 1529 คือสิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสอง มาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงการหย่า เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกินสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ ประกอบกับจำเลยมิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับและไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่แสดงว่ากรณีตกลงยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นบันทึกข้อตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จึงมีผลตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535

               พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529
               โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาการบริหารพยาบาลปัจจุบันรับราชการตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ที่กรมการแพทย์ทหารบก แต่ลาออกเมื่อปี 2522 แล้วไปทำงานบริษัทโอซูก้า จำกัด จำเลยที่ 2 ทำงานที่บริษัทเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณกลางปี 2525 มีคนบอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ไปติดพันจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ยังไม่แน่ใจจนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2528 โจทก์ติดตามไปพบจำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองแต่งกายลักษณะอยู่กับบ้านบ่งบอกถึงการเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 1 ขู่เข็ญให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่า แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 จึงหาเหตุฟ้องหย่ากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดหน้าที่ต่อโจทก์และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคม ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
               จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรู้จักกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมงานไม่เคยประพฤติหรือแสดงว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองสูงเกินสมควรค่าเสียหายหรือค่าทดแทนหากมีก็ไม่เกิน 5,000 บาท คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
               โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาบางส่วน
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               จำเลยที่ 2 ฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวหรือไม่นั้นโจทก์นำสืบพยานถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ว่าเป็นไปในทำนองชู้สาว โดยเฉพาะโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เคยกล่าวกับบุคคลอื่นหลายคนว่าโจทก์ไม่ใช่ภรรยาของจำเลยที่ 1 ภรรยาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โจทก์เคยติดตามดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 2 พบว่าจำเลยที่ 1 อยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาดังที่ นาง ร. พยานโจทก์เบิกความว่าพบจำเลยที่ 1 นุ่งกางเกงขาสั้นชุดลำลองอยู่บ้าน และจำเลยที่ 2 นุ่งกระโจมอกเตรียมจะอาบน้ำ ซึ่งโจทก์ได้ถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ในภาพถ่ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 อยู่ในชุดลำลองโดยแต่งกายตามสบาย ในลักษณะพักผ่อนอยู่กับบ้าน แสดงว่าจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 2 ในบางโอกาสโดยมีความสนิทสนมที่ใกล้ชิดกันพิเศษ เกินกว่าความสัมพันธ์ฐานเพื่อนร่วมงาน ที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวระหว่างกันนั้น ยังรับฟังลบล้างความเชื่อถือของพยานโจทก์ไม่ได้ โดยเฉพาะสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ได้เบิกความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5923/2528 ของศาลแพ่ง โดยเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เสียกับจำเลยที่ 2 แล้วแต่ยังไม่ได้ยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภรรยา เป็นพยานหลักฐานซึ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวที่ชัดเจน ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กล่าวไปเช่นนั้น ก็เพื่อประชดให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1 เพราะไม่ประสงค์จะอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ต่อไป ก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวที่มีเหตุผล เพราะเป็นการเบิกความในการพิจารณาของศาลที่พยานซึ่งสาบานตนแล้ว จะต้องเบิกความตามความเป็นจริงและการเบิกความดังกล่าวก็ไม่มีกรณีที่จะต้องมากล่าวประชดต่อกันอีก เนื่องจากล่วงเลยมาถึงขั้นดำเนินคดีฟ้องให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกันจริง คงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาวต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ในปัญหานี้แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การแสดงตนที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้เบิกความถึงในข้อนี้โดยตรง แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่กล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 โดย นาง พ. ซึ่งอยู่ในละแวกนั้นเบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปไหนมาไหนด้วยกัน เด็กชาย พ. บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอนร่วมเตียงเดียวกันและจำเลยที่ 2 เคยไปบ้านของมารดาจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 1 ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผยโดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่า บุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันดังที่จำเลยที่ 2 เองก็รับว่า โจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านของจำเลยที่ 2 คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1
               ส่วนจำเลยค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหาย และศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนสูงเกินสมควร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่า ตนมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัว และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 โดยตรงอยู่แล้ว ทั้งในข้อนี้โจทก์นำสืบให้เห็นว่า โจทก์มีสถานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์นี้เกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างมากอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองสำหรับจำนวนค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกันที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวน 50,000 บาท เป็นจำนวนค่าทดแทนที่สมควรแก่รูปเรื่องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น
               จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความในปัญหานี้ แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยทั้งสองตั้งแต่กลางปี 2525 ก็ตาม แต่คำฟ้องนั้นเองก็อ้างว่าความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปี 2528 ในชั้นนำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นอยู่ต่อมามิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2530

               การที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวนั้น โจทก์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะโจทก์เพียงแต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองทั้งโดยสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ศาลบังคับคดีได้
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นาย ล. เมื่อเดือนธันวาคม 2525 จำเลยได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว และได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ หากจำเลยไม่ระงับการมีความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ใช้ค่าทดแทนเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะระงับ และให้จำเลยใช้ค่าทดแทนในระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเงิน 200,000 บาทแก่โจทก์
               จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท
               โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าสามีโจทก์กับจำเลยมีความสัมพันธ์ต่อกันฉันชู้สาว ซึ่งตามพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ อันเป็นเหตุที่โจทก์จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่โจทก์ฟ้องเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว โจทก์เพียงแต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ทั้งโดยสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ศาลบังคับคดีได้ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับจำเลยตามคำขอในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
               พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2530

               การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง มีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย
               โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นชู้กับ น. ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าหาก น. เป็นภริยาโจทก์ โจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ ดังนี้ประเด็นที่ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นชู้กับนาง น. ภริยาโจทก์ เป็นเหตุให้ภริยาโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะการร่วมประเวณีกับจำเลย จนมีข่าวลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แพร่หลาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด 170,000 บาทและค่าทดแทนที่จำเลยเป็นชู้เป็นเงิน 130,000 บาท
               จำเลยให้การว่า ภริยาโจทก์มิได้ตายเพราะการร่วมประเวณีแต่ตายเพราะโรคหัวใจ จำเลยไม่รู้ว่านาง น. เป็นภริยาโจทก์ หากเป็นโจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้เพราะโจทก์ไม่หึงหวงหรือแสดงว่าเป็นสามีของนาง น. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเพราะยังไม่มีคำพิพากษาของศาลให้โจทก์และ นาง น. หย่ากันก่อน ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
               จำเลยอุทธรณ์
               ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตายบุตรโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทน
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในเรื่องอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นว่าความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า 'สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้.....' การล่วงเกินในทำนองชู้สาวย่อมมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย และสิทธิเรียกค่าทดแทนตามความในวรรคสองของบทกฎหมายดังกล่าวมิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

               ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ประเด็นข้อนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย ซึ่งได้ความว่า จำเลยและผู้ตายทำงานอยู่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเหมือนกัน และจำเลยเบิกความว่ามีสายงานเกี่ยวข้องกับผู้ตายด้วย ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์เคยเห็นจำเลยกับผู้ตายไปไหนมาไหนด้วยกันสองต่อสอง หากมีก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเข้าใจว่าไปในฐานะเพื่อนร่วมงานดังที่จำเลยเบิกความซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่บุคคลในภาวะเช่นนี้ย่อมมีกันได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้ผู้ตายเป็นชู้กับจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

               สำหรับข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าค่าทดแทนสูงไป และศาลล่างมิได้วางหลักเกณฑ์ในการคำนวณนั้นเห็นว่า ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งในเรื่องนี้รวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยต้องรับผิดมานั้นเป็นผลดีแก่จำเลยมากแล้ว
               พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2528

               การที่จำเลยพา บ. ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี แม้ บ.จะยินยอมสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลย ก็ถือว่าจำเลยกระทำล่วงเกินภริยาโจทก์ไปในทำนองชู้สาว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ และการที่จำเลยพาภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณีดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจ เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้ การกำหนดค่าทดแทนให้เพียงใดย่อมแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี
               โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ฉุด บ. ภริยาโจทก์ไปข่มขืนและหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ในที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 30 วัน ต่อมาโจทก์จึงให้ตำรวจจับกุมจำเลยและช่วย บ. กลับคืนมาได้ โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน 120,000 บาท
               จำเลยให้การว่า ภริยาโจทก์ยินยอมพร้อมใจร่วมประเวณีกับจำเลย โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทน 50,000 บาท แก่โจทก์
               จำเลยอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1523 วรรคสอง บัญญัติว่า " สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้....." การที่จำเลยพา บ. ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี แม้ บ. ภริยาโจทก์จะยินยอมสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลย ก็ถือว่าจำเลยกระทำล่วงเกินภริยาโจทก์ไปในทำนองชู้สาว จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ สำหรับปัญหาว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์เพียงใดนั้น การที่จำเลยพา บ.ภริยาโจทก์ไปแล้วร่วมประเวณี ย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจ เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้ การกำหนดค่าทดแทนให้เพียงใดย่อมแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลยพินิจ กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง
               พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2528

               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ (พ.ศ.2525) ลักษณะการกระทำของจำเลยได้ทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดกระทำ การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
               โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย จ. จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. 2491 โจทก์และนาย จ. อยู่กินกันฉันสามีภรรยาตลอดมาจนถึงวันฟ้อง เมื่อ พ.ศ. 2517 โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับนาย จ. โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยเลิก แต่จำเลยไม่ยอม จำเลยได้แสดงโดยเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์
               จำเลยให้การว่า ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนาย จ. โจทก์จำเลยยังมิได้หย่าขาดกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 บัญญัติให้สิทธิฟ้องร้องตาม มาตรา 1523 ระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับสามีโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
               ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับสามีโจทก์เมื่อปี พ.ศ. 2517 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2524 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่น ๆ อีกพิพากษายกฟ้อง
               โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
               ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ได้กระทำต่อเนื่องกันมาจนถึงวันฟ้องและยังไม่สิ้นสุดลง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
               จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
               ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นเพียงว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยได้มีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำ การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2525

               โจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปหลับนอนในรบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นที่ทราบกันทั่วไปซึ่งโจทก์จะได้เสนอหลักฐานในชั้นพิจารณา ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่บรรยายถึงเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. ม. 1516 (2) แล้ว
               การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาให้จำเลยที่ 2 เข้าไปหลับนอนในบ้านของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไปพบก็มีการไปเจรจากันที่สถานีตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 2 แต่ตกลงกันเรื่องค่าเสียหายและการเลี้ยงดูบุตรไม่ได้ดังนี้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์อับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ศาลกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ได้
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการสมรส โดยให้ไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักงานทะเบียนที่ว่าการอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมไป ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าทดแทนของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกเสีย

               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

               จำเลยทั้งสองฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์บรรยายถึงเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปหลับนอนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นที่ทราบกันทั่วไป ซึ่งโจทก์จะได้เสนอหลักฐานในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถึงเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
               มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และร้อยตำรวจเอก พ. พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันฟังได้ว่า วันเกิดเหตุโจทก์ได้ไปแจ้งความกับร้อยตำรวจเอก พ. ว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปหลับนอนในบ้านของจำเลยที่ 1 เมื่อร้อยตำรวจเอก พ. กับพวก ไปยังร้านจำเลยที่ 1 ก็พบจำเลยทั้งสองอยู่ในบ้านนั้นจริง วันนั้นโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงค่าเสียหายกันไม่ได้ ต่อมาร้อยตำรวจเอก พ. ได้เรียกโจทก์จำเลยทั้งสองไปตกลงกันที่สถานีตำรวจ คู่กรณีตกลงกันในเรื่องค่าเสียหายไม่ได้ ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวระบุว่า โจทก์แจ้งว่าจำเลยที่ 2 ไปหลับนอนกับจำเลยที่ 1 ในบ้านของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เรียกค่าเสียหาย 25,000 บาท จำเลยที่ 2 ยอมชำระให้ 10,000 บาท แต่โจทก์ต้องรับบุตร 4 คนไปเลี้ยงดู โจทก์ไม่ยอม จำเลยที่ 1 ตกลงไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์แต่อย่างใด เพียงแต่เกี่ยงในเรื่องค่าเสียหายเท่านั้น ตามพฤติการณ์จึงแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์อับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าลงชื่อในเอกสารหมาย จ.3 เพื่อให้เรื่องแล้วเสร็จกันไปนั้น เห็นว่าเป็นการผิดวิสัยของปกติชน เพราะเอกสารหมาย จ.3 ระบุข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หากไม่เป็นความจริงจำเลยทั้งสองย่อมจะต้องทักท้วงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากจำเลยทั้งสองมีข้อต่อสู้ตามคำให้การและที่นำสืบมา จำเลยทั้งสองก็น่าจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบด้วย ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองจึงเป็นพิรุธ หลักฐานพยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าหลักฐานพยานจำเลย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นอีก เช่นกัน
               ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองที่ว่า ค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลล่างทั้งสอง"
               พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2525

               โจทก์จับได้ว่าจำเลยกับ ส. ภริยาโจทก์ร่วมประเวณีกันโดยจำเลยยอมรับผิดและสาบานต่อพระพุทธรูป แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ยังร่วมประเวณีกันอีก แม้ตามพฤติการณ์ ส. ร่วมประเวณีกับจำเลยทุกครั้งโดยสมัครใจ โจทก์สามี ส. ก็เรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้และที่ศาลกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน 40,000 บาทนั้น สมควรแล้ว
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

               ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาง ส. ภริยาโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์มีโจทก์และนาย อ.เบิกความตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์เคยสั่งนาย อ. ซึ่งอยู่ที่บ้านติดกับบ้านโจทก์ว่าถ้าเห็นจำเลยมารับนาง ส. ไป ให้ไปแจ้งให้โจทก์ทราบ ในวันที่ 27 ธันวาคม 2521 เวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษ นาย อ. เห็นจำเลยขับรถยนต์สองแถวมารับนาง ส. ไป จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์กับนาย อ. พากันตามไปที่บังกาโลสุขสันต์ พบรถยนต์ของจำเลยจอดอยู่ สอบถามนาย พ. เด็กรับใช้ประจำบังกาโล ได้ความว่ามีชายหญิงรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยและนาง ส. พักอยู่ในห้องเบอร์สอง จึงไปเคาะประตูห้องดังกล่าว ปรากฎว่าจำเลยอยู่กับนาง ส. จำเลยยอมรับผิดต่อโจทก์และขอร้องไม่ให้ไปแจ้งต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยจะไม่ประพฤติเช่นนี้อีก โจทก์ให้จำเลยไปดื่มน้ำสาบานต่อหลวงพ่อพระใส (พระพุทธรูป) ที่วัดโพธิชัย จำเลยก็ยอมไป โจทก์กับนาย อ. จึงพาจำเลยและนาง ส. ไปดื่มน้ำสาบานที่วัดโพธิชัย จากนั้นโจทก์ได้บอกให้จำเลยขอขมาโจทก์ด้วย หลังเกิดเหตุจำเลยยังพานาง ส. ไปร่วมประเวณีที่โรงแรมพรรณทวีอีก 1 ครั้ง พยานโจทก์นอกจากนี้มีนาย พ. เบิกความรับรองว่าจำเลยและนาง ส. ได้เข้าพักในบังกาโลสุขสันต์ ห้องเบอร์สอง ก่อนโจทก์กับนาย อ. ไปถึงประมาณ 20 นาที และมีนาง ส. เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรานาง ส. มาแล้ว 3 ครั้ง วันเกิดเหตุได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่บังกาโลสุขสันต์ 1 ครั้ง ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันและเชื่อมโยงกัน สำหรับนาง ส. นั้นตามพฤติการณ์น่าจะเป็นการร่วมประเวณีกับจำเลยทุกครั้งโดยสมัครใจ แต่เบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นว่าถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งก็เป็นเพราะความอับอายตามวิสัยหญิงไม่เป็นพิรุธแก่คดีของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์เป็นข้าราชการตำแหน่งช่างฝีมือสนามชั้นสี่สังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์และนาง ส. จะแกล้งกล่าวหาจำเลยด้วยเรื่องราวที่อับอายขายหน้าเช่นนี้ ดังเช่นที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่จำเลยนำสืบอ้างสถานที่อยู่ในวันเกิดเหตุนั้นก็เป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะประจำอยู่ในที่ทำงานตลอดไปดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว หลักฐานพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าหลักฐานพยานจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาง ส. ภริยาโจทก์ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
               จำเลยฎีกาต่อไปว่า ค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท นั้นสูงเกินไป พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นข้าราชการและมีบุตรกับนางสุปราณีถึง 4 คน การที่จำเลยเป็นชู้กับนางสุปราณีย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติคุณ ทั้งกระทบกระเทือนต่อสุขภาพจิตของโจทก์ ค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์นั้นจึงเหมาะสมแล้ว"
               พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2525

               จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 มาก่อนที่จะสมรสกับโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 สมรสกับโจทก์ที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และยกย่องเป็นภรรยาอย่างออกหน้า ดังนี้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องหย่าได้ และเหตุหย่าในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามป.พ.พ. ม.1523 วรรคแรก
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดกับโจทก์ที่ 1 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรส 450,000 บาท คืนหรือใช้ราคาสินส่วนตัว 154,500 บาทกับใช้ค่าทดแทนความเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และใช้สินสอด 40,000 บาท คืนแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ทั้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 2,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว

               ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ทั้งสามเฉพาะในเรื่องขอแบ่งสินสมรส

               โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีเหตุหย่าจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีบันทึกการโต้ตอบทางโทรศัพท์ระหว่างโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 3 นาง ด. นาง ว. พันจ่าเอก ส. นาง ส. นาย พ. ตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.31 และ จ.38 ภาพถ่ายทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.41 สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมชื่อผู้เป็นหุ้นส่วน ภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามเอกสารหมาย จ.6 ข.7 จ.10 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ทั้งสามและยกย่องจำเลยที่ 2 เป็นภรรยาอย่างออกหน้า อนึ่งสัญญาทัณฑ์บนตามเอกสารหมาย จ.14 ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงแม้จำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าเป็นผู้เขียนเอกสารนั้นเอง และจดหมายตามเอกสารหมาย จ.17 จ.18 จ.19 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวก่อนที่จำเลยที่ 1 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทัณฑ์บนให้โจทก์ที่ 1 ไว้ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 อีกตามเอกสารหมาย จ.14 นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสามยังเบิกความประกอบสนับสนุนเอกสารดังกล่าวโดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 ยืนยันว่าเคยพบจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยกันในห้องนอนในสภาพที่ร่วมประเวณีกันเสร็จใหม่ ๆ รูปเรื่องน่าเชื่อดังโจทก์นำสืบ ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์แต่งเรื่องขึ้นเพื่อหาเหตุฟ้องหย่านั้นเห็นว่าเลื่อนลอยไม่มีเหตุผล พยานโจทก์มั่นคง คดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1มีเหตุหย่าจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย" ฯลฯ
               "สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหาย โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองด่าหมิ่นประมาทโจทก์ทางโทรศัพท์ โจทก์มีโจทก์ทั้งสามและบันทึกการโต้ตอบทางโทรศัพท์เป็นพยานหลักฐาน พยานจำเลยไม่สามารถหักล้างได้ ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ 2,000 บาทเป็นการสมควรแล้ว ส่วนค่าเสียหายในการที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้รับความชอกซ้ำถูกดูหมิ่นเหยียดหยามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยกย่องเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่น ฉันสามีภริยา โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก ศาลล่างกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 200,000 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว" ฯลฯ
               "พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรส 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์"


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2523

               จำเลยทราบว่า ต. เป็นหญิงมีสามี แต่ก็ยังร่วมหลับนอนด้วย เมื่อจำเลยล่วงเกิน ต. ภริยาโจทก์ในทำนองชู้สาวจึงถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องใช้ค่าทดแทน
               ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 117,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

               ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายที่ต้องจ้างแม่บ้านมาดูแลบ้านและบุตร พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

               จำเลยฎีกา
               ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นสามีนาง ต. โดยชอบด้วยกฎหมาย ในวันเวลาเกิดเหตุ โจทก์ไปพบนาง ต. อยู่กับจำเลยในห้องพักที่โรงแรมมรกต ปัญหาชั้นฎีกามีว่า จำเลยกระทำละเมิดสิทธิต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้โจทก์เบิกความยืนยันว่าได้รับโทรศัพท์ว่านาง ต. ภริยาโจทก์ไปหลับนอนกับจำเลยอยู่ที่โรงแรมมรกต โจทก์จึงเดินทางไปยังโรงแรมดังกล่าว พบนาง ต. ภริยาอยู่กับจำเลยในห้องนอนสองต่อสอง โดยนุ่งผ้าขนหนูผืนเดียวออกมาจากตู้เสื้อผ้า เมื่อพากันไปสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ในรายงานประจำวันตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า โจทก์แจ้งว่าจำเลยกับภริยาโจทก์มาเช่าห้องพักโรงแรมหลับนอนกัน นาง ต. ภริยาโจทก์อ้างว่าโจทก์มีภริยาน้อยทอดทิ้งตนจึงได้มาอยู่กับจำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ยอมลงชื่อในบันทึกดังกล่าวโดยดี พฤติการณ์ของจำเลย ส่อให้เห็นว่าจำเลยทราบว่านางเตือนใจผู้นี้เป็นหญิงมีสามี แต่จำเลยก็ยังร่วมหลับนอนด้วย ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยยุ่งเกี่ยวกับนาง ต. เป็นลักษณะการค้าประเวณีนั้น จำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่อย่างใด เมื่อจำเลยล่วงเกินภริยาโจทก์ในทำนองชู้สาวจึงถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย"
               พิพากษายืน


============================================

นักสืบ ชู้สาว รับสืบ สะกดรอย ติดตาม พฤติกรรม ตรวจสอบประวัติ ภูมิหลัง

               บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัลจำกัด ให้บริการ นักสืบเอกชน รับสืบชู้สาว สะกดรอยติดตามพฤติกรรม ถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอ ตรวจสอบประวัติส่วนตัว สถานภาพการสมรส สถานที่ทำงาน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ สถานภาพทางด้านการเงิน รายได้ สืบหาหลักฐานการฟ้องหย่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ ตลอดจนรับสืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้

               ความหมายของ “ชู้” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้นิยามไว้ว่า “น. คู่รัก; ผู้ล่วงประเวณี; การล่วงประเวณี, ชาย ที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา เรียกว่า เป็นชู้, หญิงที่ยังมีสามีอยู่แล้วร่วมประเวณีกับชายอื่น เรียกว่า มีชู้, เรียกชายหรือหญิงที่ใฝ่ในทางชู้สาวว่า "เจ้าชู้

               จากนิยามดังกล่าวข้างต้นนี้ เราก็จะเห็นว่า คำว่า “เป็นชู้” กับ “มีชู้” มีความหมายแตกต่างกัน และมีลักษณะการใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าผู้ชายไปร่วมประเวณีด้วยภรรยาผู้อื่น เรียกว่า “เป็นชู้” แต่ถ้า หญิงที่มีสามีแล้ว ไปร่วมประเวณีกับชายอื่น เรียกว่า “มีชู้”

(อ่านรายละเอียด)
 

============================================



               กรณีที่ท่านมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด
เลขที่ 725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
โทร 081-9151522, 090-0700080  email: skyinterlegal@gmail.com , ดูแผนที่ (คลิกที่นี่)

บริษัท สกายอินเตอร์เนชั่นแนลลีกัล จำกัด 
725 อาคารเอส เมโทร ชั้น 20 ห้อง 174 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

โทร. 081-9151522, 090-0700080            E-mail : skyinterlegal@gmail.com           Facebook : Skyinterlegal
Copyright 2011-2022 Sky International Legal Co.,Ltd. All rights reserved.
 
  
view